ศ.ศ.ป.เผยผลสำเร็จการผลักดันผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมสู่เชิงพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Monday April 30, 2012 14:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ศ.ศ.ป. ตอบโจทย์ 4 ภารกิจหลัก “ส่งเสริม สนับสนุน, สร้างมูลค่าเพิ่ม ,พัฒนาเผยแพร่ความรู้ และสนับสนุนภารกิจมูลนิธิฯ” พร้อมส่งแผนปฏิบัติงาน ปี 2555-56 มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ สู่การเป็น ศูนย์กลางพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ ศูนย์กลางองค์ความรู้ และศูนย์กลางการค้า เป็นที่รู้จัก และสร้างการยอมรับได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานของศ.ศ.ป.ตลอดปี 54 ตอบโจทย์ 4 ภารกิจหลักสำคัญได้แก่ (1) การส่งเสริม สนับสนุนด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยมีผลการดำเนินการที่สอดคล้องเชื่อมโยงกัน ได้แก่ การสร้างจุดจำหน่าย (Sale spot) โดยร่วมมือกับห้างอัมรินทร์ พลาซ่าและการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นจุดจำหน่ายสินค้าศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยิ่งขึ้น การเข้าร่วมงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น งานรัตนโกสินทร์ เฟสติวัล ร่วมกับหอการค้าไทย งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2554 (Thailand Tourism Festival 2011) ร่วมกับ ททท. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เช่น งานฝ้ายทอใจ งานอัตลักษณ์แห่งสยาม และงานศิลปาชีพสัญจร ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งสามารถสนับสนุนให้สมาชิก ศ.ศ.ป.กว่า 300 ราย มีโอกาสจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสร้างโอกาสในการพบปะเพื่อเจรจาการค้ากับลูกค้ามากยิ่งขึ้น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติที่จัดขึ้นในประเทศ ได้แก่ งาน BIG & BIH งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair และงาน BIFF & BIL ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน และช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดแก่สมาชิกได้เพิ่มขึ้น ภารกิจด้านการค้าต่างประเทศ เช่น การสร้างเครือข่ายการค้าร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรใน คุนหมิง ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ เช่น งาน Fashion Access, Hong Kong งาน Maison et object 2011 ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งงานนี้ได้รับผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดีและเป็นการเปิดประตูตลาดยุโรปได้อย่างภาคภูมิใจ และการเข้าร่วมงาน Thailand Trade & Exhibition ณ ประเทศโปแลนด์,อินโดนีเซีย, สปป.ลาว, มาเลเซีย, เวียดนาม และ อินเดีย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านออกสู่ตลาดทั้งในตลาดอาเซียน (2) การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรม และการพัฒนาช่างฝีมือ โดยดำเนินงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้า ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น อบรมการมัดย้อมสีธรรมชาติ และการอบรมการสร้างบรรจุภัณฑ์ให้กับสมาชิกโครงการพระราชดำริ เขาหินซ้อน การอบรมด้านเซรามิก ,การออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องหวาย จนถึงสามารถทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดสู่สมาชิกให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อการจำหน่ายได้ (3) การพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้านงานศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรม ศ.ศ.ป.วันนี้นับว่าเป็นศูนย์รวมแห่งองค์ความรู้ทางศิลปหัตถกรรมไทย อาทิ การรวบรวมประวัติครูช่างงานทอง “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” การจัดแสดงหอนิทรรศการ เช่น หอเครื่องทองไทย หอศิลปาชีพ หอหัตถศิลป์ผ้าไทย และหอเกียรติยศ นิทรรศการหัวโขน ฯลฯ และ (4) การสนับสนุนภารกิจมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สนับสนุนการดำเนินงานใน โครงการพัฒนาทักษะฝีมือสมาชิกศิลปาชีพทอผ้าไหมยกดอก ณ ศูนย์ศิลปาชีพ บ้านเนินธัมมัง และบ้านตรอกแค จังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการศิลปาชีพ บ้านท่านหญิง อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ โครงการฝึกอบรมและพัฒนาสมาชิกศิลปาชีพกลุ่มทอผ้าไหมและกลุ่มทอผ้าฝ้าย ณ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั่วประเทศ สำหรับ ปี 2555 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ด้วยการใส่ดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการองค์ความรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรม การสนับสนุนการตลาดการค้าในประเทศและต่างประเทศ และการเพิ่มความแข็งแกร่งของเครือข่ายสมาชิกสัมพันธ์ เพื่อผลักดันให้ ศ.ศ.ป.เป็นศูนย์กลางงานหัตถกรรม อันประกอบด้วย ศูนย์กลางพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ ศูนย์กลางองค์ความรู้ และศูนย์กลางการค้า ซึ่งเป็นเป้าหมายการดำเนินงานในระยะที่ 3 (พ.ศ.2555) ตามแผนกลยุทธ์การดำเนินงานปี 2552 — 2555 ที่ยังคงสอดคล้องกับ 4 ยุทธศาสตร์หลักของ ศ.ศ.ป. เริ่มด้วยการการสร้างมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน มุ่งพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและศิลปหัถตกรรมพื้นบ้านของไทยด้วยการใส่ดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในผลิตภัณฑ์เพื่อให้สินค้าเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค โดยแบ่งระดับชั้นของตลาดเป็น 3 ระดับ ได้แก่ (1) กลุ่มสินค้า Traditional & Culture สำหรับตลาดที่เน้นความน่าเชื่อถือ และผู้ชื่นชอบงานศิลปะ (2) กลุ่มสินค้าของใช้ชีวิตประจำวัน Regular Living และ (3) กลุ่มสินค้า Modern Living สำหรับคนรุ่นใหม่ที่นิยมดีไซน์ทันสมัยและสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย พร้อมกันนี้ จะมุ่งเพิ่มสมรรถนะช่างศิลปหัตถกรรมและครูช่างศิลปหัตถกรรมให้มีความรู้ ความชำนาญในวิชาชีพและสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้ช่างและผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าและชิ้นงานที่สามารถจำหน่ายได้ตรงตามความต้องการของตลาดและไปต่อได้ในราคาที่สูงขึ้น พร้อมกันๆกับส่งเสริมการเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อสนับสนุนให้ช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้สนใจ ทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ใช้ข้อมูลองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ ศ.ศ.ป. ได้รวบรวม วิจัย และจัดทำขึ้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้จากการผลิตและจำหน่ายงานศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ตลอดจนเกิดการเรียนรู้งานศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยและนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้ ศ.ศ.ป.เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตด้านงานศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เปิดและสร้างโอกาสทางการค้างานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เน้นการตลาดเชิงรุกเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่พัฒนาขึ้นสามารถทำการตลาดในตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันการสร้างและขยายโอกาสทางการค้าให้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพ โครงการศิลปาชีพ โครงการพระราชดำริและสมาชิก ศ.ศ.ป. ในช่องทางการตลาดที่เหมาะสมและหลากหลาย นอกจากนี้ ผอ.พิมพาพรรณฯ กล่าวต่ออีกว่า ภารกิจของ ศ.ศ.ป. อีกอย่างคือการสำรวจและจัดเก็บมูลค่าการค้างานศิลปหัตถกรรมโลก และงานศิลปหัตถกรรมไทยอยู่ตรงไหน มีสัดส่วนการตลาดเท่าไร และวิเคราะห์ตลาดกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยแต่ละประเภท นอกจากจะเป็นปัจจัยในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในขั้นต่อไปของ ศ.ศ.ป. นั้น ยังเป็นประดยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มงานศิลปหัตถกรรมไทยได้ในตลาดสากลอีกด้วย ศ.ศ.ป. เชื่อมั่นว่า ปี 2555 การดำเนินงานจะเป็นไปในรูปแบบเชิงรุกมากขึ้น และมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลิต ส่งเสริม และผลักดันผลงานศิลปหัตถกรรมให้มีความน่าสนใจ และขอเป็นส่วนหนึ่งซึ่งช่วยสร้างรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้แก่งานศิลปหัตถกรรมไทยได้อย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ