กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--คูดี
เอ็มเทคจับมือ 4 มหาวิทยาลัยชื่อดัง จัดแข่งขัน RDC 2012 เฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยร่วมแข่งขัน IDC Robocon 2012 ที่ประเทศญี่ปุ่น ชูโจทย์สร้างหุ่นยนต์ช่วยลดโลกร้อน พร้อมนำหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติมาใช้เพิ่มศักยภาพหุ่นยนต์บนเวทีนี้เป็นครั้งแรก!
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมจัด “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5” (Robot Design Contest 2012, RDC 2012) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทักษะความสามารถของเยาวชนไทยด้านการศึกษาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเฟ้นหาเยาวชนตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ IDC Robocon ณ ประเทศญี่ปุ่น ในสิงหาคมนี้ โดยมีการเปิดตัวน้องๆเยาวชนที่ผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก ในงานแถลงข่าวไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้ ณ ลานอีเวนท์ ฮอลล์ ชั้น 1 ดิจิตอล เกตเวย์ สยามสแควร์
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน RDC 2012 กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 แล้ว จากความสำเร็จในเวทีแข่งขันระดับนานาชาติ ทำให้ศักยภาพความสามารถของเยาวชนไทยเป็นที่ยอมรับอย่างมาก สร้างกระแสตื่นตัวและสนใจเทคโนโลยีหุ่นยนต์เป็นวงกว้างมากขึ้น นับเป็นก้าวสำคัญที่จะต้องผลักดันให้เยาวชนไทยหันมาสนใจศึกษาอย่างจริงจังด้วยการจัดกิจกรรมสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เช่น การแข่งขันหุ่นยนต์ การประกวดหุ่นยนต์ ค่ายหุ่นยนต์ เป็นต้น สำหรับปีนี้ มีนิสิตนักศึกษาผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขันระดับภูมิภาคเข้าสู่การแข่งขันในระดับประเทศ จำนวน 90 คน จาก 24 สถาบัน รูปแบบการแข่งขันเป็นแบบคละทีมต่างสถาบันฯ และมีนักศึกษาจำนวน 4 - 5 คนต่อทีม รวม 20 ทีม โดยโจทย์การแข่งขันฯ ในปีนี้คือ “Reactions to Climate Change” ที่สะท้อนปัญหาอันเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกและการมีส่วนร่วมของมนุษย์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน
“ในปีนี้ มีความพิเศษอยู่ที่นับเป็นครั้งแรกที่ได้นำหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ หรือ Mobile Robot Platform มาเป็นตัวช่วยเสริมในการแข่งขันด้วย ทั้งนี้เนื่องจากปีที่ผ่านๆ มาเน้นเฉพาะการพัฒนาหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ หรือ Manual Robot เพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษาทางด้านการออกแบบกลไกการเคลื่อนที่ แต่มาปีนี้เราต้องการเพิ่มเติมในเรื่องการพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หุ่นยนต์ทำงานหรือเคลื่อนที่อัตโนมัติ เพื่อเป็นการต่อยอดนักศึกษาในการเรียนและประโยชน์กับการทำงานหรือประกอบอาชีพในโรงงานสมัยใหม่”
น้องหยก น.ส.น้ำเพชร ทรงศิริทัตต์ นิสิตชั้นปีที่ 2 ภาควิชาเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทราบเรื่องการแข่งขันนี้จากรุ่นพี่ในคณะที่เคยไปคว้าแชมป์ในการแข่งขันนี้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งตนเองก็สนใจเกี่ยวกับเรื่องหุ่นยนต์อยู่แล้ว เพราะสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการเรียนในชั้นเรียนต่อไปได้ นอกจากนี้ ในการแข่งขันครั้งนี้ยังมีการอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์ด้วย จึงทำให้ตัดสินใจสมัครมาเข้าร่วมการแข่งขัน
“ก่อนแข่งก็มาแบบไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากมาย เพียงแต่สอบถามกับรุ่นพี่ และลองเข้าไปดูเว็บการแข่งขันปีที่แล้ว ตอนนี้ก็อยากมารับความรู้ด้านการออกแบบหุ่นยนต์ และมารู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ได้ฝึกการทำงานร่วมกัน” น้องหยกกล่าว
เบนซ์-นาย ปกรณ์ ชัยศิริลาภ นักศึกษาปี 1 ภาควิชาวิศวะเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า รู้จักการแข่งขันนี้จากรุ่นพี่ ที่เคยมาแข่งและสามารถคว้าแชมป์จากการแข่งขันนี้ จึงรู้สึกสนใจอยากมาเข้าร่วมการแข่งขันเช่นกัน ส่วนตัวคิดว่าตนเองมีความสามารถในเรื่องการดีไซน์ จึงน่าจะใช้จุดแข็งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์นี้แสดงความสามารถช่วยทีมให้คว้าแชมป์ออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ในปีนี้
“สำหรับโจทย์เรื่อง Reaction to climate Change ในปีนี้ ส่วนตัวเห็นว่า ภาวะโลกร้อน เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากในขณะนี้ จึงอยากรณรงค์ให้เพื่อนๆช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น โลกของเราจะได้น่าอยู่ขึ้น อากาศดีขึ้นกว่านี้ครับ” นายปกรณ์แนะนำ
ไปร่วมลุ้นว่าน้องๆทีมใดจะคว้าแชมป์ RDC 2012 ไปครองได้ในปีนี้ ไปร่วมลุ้นกันได้ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2555 ณ ลานศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ชั้น 1 ประตูน้ำ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0-2564-6500 ต่อ 4680 หรือ