SiPH เปิดให้บริการส่วนแรก ชูมาตรฐานศิริราช พร้อมเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคซับซ้อนที่รักษายาก

ข่าวทั่วไป Monday April 30, 2012 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--โอกิลวี่ พับลิคฯ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หรือ SiPH ถือฤกษ์ดี วันก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช เปิดให้บริการในส่วนแรก เน้นจุดต่าง “คุณคือผู้รับและผู้ให้” คืนรายได้กลับสู่ศิริราชเพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยยากไร้ และการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ระดับสากล SiPH จะให้บริการทางการแพทย์ครบวงจรตามมาตรฐานศิริราช และเป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลมาตรฐานศิริราชได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซับซ้อนซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์มากกว่าหนึ่งสาขา แต่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและไม่สามารถรอคิวรักษาจากโรงพยาบาลศิริราชได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านสุขภาพ SiPH จึงเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาพยาบาล ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เปิดเผยในงานเสวนา “คนไทยกับโรคซับซ้อน” ซึ่งจัดขึ้นที่ SiPH ว่า “ในฐานะที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นโรงพยาบาลในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศที่มีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา SiPH จึงสามารถให้บริการระดับตติยภูมิ (Tertiary care) ที่ให้การรักษาทางการแพทย์ขั้นสูงโดยแพทย์เฉพาะทาง (Sub specialty) ในด้านต่างๆ เช่น โรคไต โรคหัวใจ หลอดเลือด ทางเดินหายใจ ต่อมไร้ท่อ ผิวหนัง ทางเดินอาหาร ทรวงอก ศัลยกรรมระบบประสาท และระบบปัสสาวะ ศัลยกรรมเด็ก เป็นต้น และสาขาอื่นๆ เช่น พยาธิวิทยา รังสีรักษา รังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น นอกจากนี้ SiPH ยังมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคซับซ้อนที่ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางหลายสาขาร่วมให้การดูแลในเวลาเดียวกันด้วย” โรคซับซ้อนเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน อาทิ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการดำรงชีวิต ซึ่งทำให้วินิจฉัยและรักษาได้ยาก บางครั้งการวินิจฉัยไม่สามารถดูจากอาการที่แสดงออกเป็นหลักได้ เพราะมีความซ้อนของรอยโรคมากกว่าหนึ่งโรค เช่น โรคหัวใจ มักมีโรคอื่นร่วมด้วยทั้งเบาหวาน ความดันโลหิต ความเสื่อมของไต และโรคทางสมองไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดในสมอง โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น โรคมะเร็งเป็นโรคซับซ้อนที่หาสาเหตุของโรคได้ไม่ชัดเจน และส่งผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆ การวินิจฉัยโรคและการรักษาจึงต้องอาศัยองค์ความรู้และความสามารถของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่หลากหลายร่วมกัน ควบคู่กับการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย “ปัจจุบันภาวะการเกิดโรคซับซ้อนที่รักษายากมีเพิ่มขึ้น ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้น การดำรงชีวิตที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และอายุเฉลี่ยของประชากรสูงขึ้น สถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2552 ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่มาจากโรคมะเร็งและเนื้องอก โรคหัวใจ โรคความดันและหลอดเลือดในสมอง โรคปอด โรคไต และโรคตับ ฯลฯ โรคเหล่านี้ถ้าเกิดในผู้ป่วยสูงอายุจะยิ่งมีความซับซ้อนในรักษายากขึ้นไปอีก แต่ SiPH มีความพร้อมที่จะให้การรักษาเพื่อช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายแพทย์ประดิษฐ์กล่าว นางลาวัลย์ กันชาติ ประธานบริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ผู้เข้าร่วมเสวนากล่าวเสริมว่า “ขึ้นชื่อว่าหมอศิริราชนี่ มั่นใจค่ะ SiPH ใช้มาตรฐานเดียวกันกับศิริราช จึงไม่ต้องห่วงเลยเรื่องความแม่นยำในการวินิจฉัย และรักษา ต่อให้เป็นโรคซับซ้อนก็ไม่ห่วง การเปิด SiPH เป็นช่องทางใหม่ที่ให้โอกาสคนอีกหลายคนได้เข้าถึงการรักษาระดับนี้ ด้วยบริการที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ที่ประทับใจมากที่สุดคือ แนวคิดของ “ผู้รับผู้ให้” คือ คนที่มารับการรักษาที่ SiPH เป็นทั้งผู้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน และเป็นทั้งผู้ให้ เพราะรายได้ส่วนหนึ่งของ SiPH จะส่งกลับไปยังคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และพัฒนามาตรฐานการแพทย์ของไทยต่อไป เรียกได้ว่ามารักษาที่นี สุขทั้งกายสุขทั้งใจค่ะ” นายฤทธิ์ ธีระโกเมน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ จำกัด หนึ่งในแขกรับเชิญในงาน กล่าวว่า “ครอบครัวของผมเป็นคนไข้ของศิริราชมาโดยตลอด เพราะเชื่อมั่นคุณภาพของแพทย์ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง ผมศรัทธาในการวินิจฉัยและรักษาอย่างสมเหตุสมผลตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์ของศิริราช จึงยินดีที่ SiPH เปิดให้บริการเป็นทางเลือกใหม่ ในฐานะผู้บริหารองค์กร และประชาชนคนหนึ่ง ผมมองว่า นี่คือก้าวสำคัญที่จะนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่โรงพยาบาลรัฐของไทยครับ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่สะสมมานานหลายประการ เช่น ปัญหาบุคลากรด้านการแพทย์ย้ายไปเอกชน ปัญหาการพัฒนาคุณภาพการรักษาและการให้บริการครับ” การบริการในส่วนแรกของ SiPH ประกอบด้วย ศูนย์อายุรกรรมเพื่อตรวจรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบประสาทและสมอง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวาน และโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป ศูนย์กระดูกและข้อ ศูนย์มะเร็ง ศูนย์รังสีวินิจฉัยและรักษาที่มีเครื่องมือทางการแพทย์พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ มีห้องบริการผู้ป่วยนอก 177 ห้อง ห้องผ่าตัด 17 ห้อง ห้องพักผู้ป่วย 284 ห้อง หอผู้ป่วยวิกฤต 61 ห้อง พร้อมเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง เช่น เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), เครื่องเร่งอนุภาค (LINAC) เป็นเครื่องฉายรังสีรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากที่สุดในปัจจุบันโดยมีความแม่นยำสูง จึงใช้ปริมาณรังสีน้อย ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสามารถรักษาได้ทุกส่วนของร่างกายแม้ในอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวตลอด รวมทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันรวมถึงพื้นที่จอดรถมากกว่า 1,000 คัน ข้อมูลเกี่ยวกับ SiPH SiPH เป็นโรงพยาบาลใหม่ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและเป็นหนึ่งใน 5 โครงการหลักภายใต้สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช ที่ประกอบด้วยศูนย์วิจัย สถานการแพทย์แผนไทย สวนสมุนไพรไทย และพิพิธภัณฑ์ โดยที่ SiPH จะเน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้สามารถให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว มีการดูแลใกล้ชิดในบรรยากาศอบอุ่นเหมือนครอบครัวเดียวกัน และมั่นใจในความเป็นเลิศทางการแพทย์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลศิริราช ในอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผลและนำรายได้คืนกลับสู่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อสนับสนุนศิริราชโดยรวมในการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ระดับสากล แถลงข่าวโดย : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ รายละเอียดเพิ่มเติม : ดาริน ลือนาม (darin.lue@siphhospital.net) “โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” โทร. 02 419 1982 บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด แพงขวัญ เขมะวิชชานุรัตน์ (pangkwan.lekhyananda@ogilvy.com) โทร. 0 2205 6617 นิลรัตน์ ดีสมสุข (ninrat.deesomsuk@ogilvy.com) โทร. 0 2205 6615 ภาพประกอบ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล SiPH ห้องผู้ป่วยในแบบ Royal VIP ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องเร่งอนุภาค (LINAC) เครื่องฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง เทคโนโลยีล่าสุด มีความแม่นยำสูง รักษาได้ทุกส่วนของร่างกายแม้ในอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวตลอด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ