กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กรมสรรพสามิตนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนสินค้าหนีภาษีทางทะเล พร้อมเปิดตัวเรือตรวจการณ์ทางทะเลสรรพสามิต 3 และอุปกรณ์สื่อสารที่มีความแม่นยำในการตรวจจับสินค้าหนีภาษีผ่านดาวเทียม Inmarsat C รวมถึงวิทยุสื่อสารและเรดาร์ที่เชื่อมโยงข้อมูลมายังศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามของกรมสรรพสามิต
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้กรมสรรพสามิตกวดขันสินค้าหลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงดำเนินมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต และจูงใจผู้ที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาสู่ระบบภาษีซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้จัดทำแผนเฉพาะกิจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจจากสำนักตรวจสอบ ป้องกันและปราบปราม และเจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพเรือ เพื่อร่วมกันตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตตามพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่าอาจมีการกระทำผิด เช่น บริเวณแนวตะเข็บชายแดน แหล่งชุมชน และสถานบริการ เพื่อสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต และเพื่อเป็นมาตรการเสริมทางอ้อมในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคให้บริโภคสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากการบริโภคสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษีจะเป็นอันตรายและส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าโดยทั่วไป
อธิบดีกรมสรรพสามิตยังกล่าวอีกว่า จากการติดตามของเจ้าหน้าที่พบว่าการลักลอบนำสินค้าสุรา และยาสูบเข้าประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการลักลอบลักลอบนำสินค้ามาจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ และบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกทางประเทศกัมพูชาเข้ามาทางชายฝั่งทะเล อันดามันและฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยปัญหาอุปสรรคที่พบจากการปฏิบัติงานส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่ คือ การขาดแคลนอุปกรณ์ในการติดตามผู้กระทำผิดทางทะเลอีกจำนวนมาก ซึ่งกรมสรรพสามิตมีเรือเร็วตรวจการณ์ราชวัตรพร้อมเครื่องมือสื่อสารขนาด 37 ฟุต จำนวน 2 ลำ เพื่อปฏิบัติหน้าที่อยู่ประจำ ในการนี้เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการลักลอบกระทำผิดที่ขยายเป็นวงกว้าง และเพิ่มสมรรถนะบุคลากรและเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้จัดซื้อเรือตรวจการณ์ทางทะเลขนาดกลางพร้อมอุปกรณ์สื่อสาร โดยใช้ชื่อว่า “เรือตรวจการณ์สรรพสามิต 3” และได้เปลี่ยนชื่อเรือตรวจการณ์ทางทะเล ราชวัตร 1 และ ราชวัตร 2 ที่มีอยู่จำนวน 2 ลำ เป็นเรือตรวจการณ์สรรพสามิต 1 และเรือตรวจการณ์สรรพสามิต 2 ด้วย
โดยคุณลักษณะของเรือตรวจการณ์สรรพสามิต 3 เป็นเรือที่มีความยาว 60 ฟุต กว้าง 15 ฟุต ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ 2 เครื่อง มีความแรงเครื่องละ 593 แรงม้า สามารถทำความเร็วสูงสุด 20 น็อต และสามารถบรรทุกเจ้าหน้าที่และลูกเรือได้ประมาณ 15 คน และวิ่งปฏิบัติการกลางทะเลได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 50 ชั่วโมง โดยบรรจุอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยมากขึ้น ได้แก่
1. ติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือผ่านดาวเทียม Inmarsat C เพื่อรายงานตำแหน่งเรือกลับมายังศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามกรมสรรพสามิตได้
2. ติดตั้งระบบเรดาร์, Wi-Fi, Wi—Max
3. ติดตั้งอุปกรณ์และกล้องที่หัวเรือเพื่อ Capture ภาพถ่ายส่งกลับมายังศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามกรมสรรพสามิตได้
4. ติดตั้งระบบโปรแกรม Advance Sea เพื่อส่งข้อมูลทั้งหมดมายังศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามกรมสรรพสามิต
สำหรับผลการปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายสรรพสามิต ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2554 — 23 เมษายน 2555 กรมสรรพสามิตสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้จำนวน 27,481 ราย ค่าปรับ 265 ล้านบาท แบ่งเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 จำนวน 16,700 คดี เปรียบเทียบปรับ 48 ล้านบาท พ.ร.บ. ยาสูบ พ.ศ. 2509 จำนวน 7,959 คดี เปรียบเทียบปรับ 123 ล้านบาท พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 จำนวน 2,805 คดี เปรียบเทียบปรับ 93 ล้านบาท และพ.ร.บ.ไพ่ พ.ศ. 2486 จำนวน 17 คดี
สำหรับผลการจัดเก็บภาษีในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554 — มีนาคม 2555) กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ 179,247 ล้านบาท โดยรายได้ภาษีที่กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงสุด จำนวน 42,971 ล้านบาท 2) ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้ 34,610 ล้านบาท 3) ภาษียาสูบ จัดเก็บได้ 31,838 ล้านบาท 4) ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จัดเก็บได้ 30,338 ล้านบาท และ 5) ภาษีสุรา จัดเก็บได้ 28,480 ล้านบาท
“หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call Center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th หรือแจ้งที่ตู้ ป.ณ. 10 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ และจะมอบสินบนนำจับให้ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวในตอนท้าย
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
สำนักงานเลขานุการกรม
กรมสรรพสามิต
โทร.02 241 4778
www.excise.go.th