กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สสวท.
ผ่านไปแล้วหนึ่งปีกับรายการโทรทัศน์ดี ๆ “รายการวิทยสัประยุทธิ์” ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเพิ่งจะได้แชมป์ประเทศไทย รายการ ''วิทยสัประยุทธ์” ปีแรกไปหมาดๆ
ทีมที่ชนะเลิศคือโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ. เชียงใหม่ ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมกับแพคเกจเดินทางไปดูงานที่สถาบันวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ส่วนทีมรองชนะเลิศ ก็คือ โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท
ในการสัประยุทธ์รอบชิงชนะเลิศนี้โรงเรียนดาราสมุทรโชว์ลีลาการนำเสนอแบบอาชีพผ่านละครหรือบทบาทสมมติเป็นโจรสลัด และแบ่งหน้าที่การนำเสนอเป็นทีมได้อย่างสอดคล้องน่าประทับใจ ได้ออกแบบและสร้างกลไกหรือสิ่งประดิษฐ์ในการปฏิบัติ 4 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจที่ 1 สร้างกลไกหากุญแจซึ่งฝังอยู่ในกระบะทรายที่กำหนดให้ ภารกิจที่ 2 สร้างกลไกในการนำกุญแจที่หาได้นำส่งกลับมายังพื้นที่การทดลอง ภารกิจที่ 3 นำกุญแจที่ได้มาเปิดกล่องคำถาม แล้วหาคำตอบที่จะกลายเป็นจะเป็นรหัส 4 ตัวในการเปิดประตูตู้เซฟ และภารกิจที่ 4 สร้างกลไกในการกดรหัสที่แป้นกด ซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 9 เมตร เพื่อช่วยซุปเปอร์สตาร์ออกมาให้ได้ก่อนหมดเวลา
นับว่าเป็นภารกิจที่สุดหินจริงๆ ซึ่งทีมชนะเลิศกับรองชนะเลิศขับเคี่ยวกันอย่างสูสี่คู่คี่ ผู้ชนะเลิศทำคะแนนนำไปได้อย่างเฉียดฉิว ทำเอาผู้ชมร่วมลุ้นกันตัวโก่ง ....
ในส่วนของทีมโรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชานั้น ได้แก่ นายณัฐชนน อนุรพันธ์ (นนท์) นายศุภณัฐ หอมตระกูล (เจเจ) นายกิตติวัฒน์ อิทธิสารรณชัย (เกม) หนุ่มน้อยทั้งสามคนเป็นเด็กรักเรียนวิทยาศาสตร์คนละรูปแบบกัน โดยนนท์ ชอบเรียนฟิสิกส์ เจเจ ชอบเรียนคณิตศาสตร์ ส่วนเกมนั้นชอบเรียนเคมี ทั้งสามคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ประทับใจที่ได้มีส่วนร่วมในรายการวิทยสัปประยุทธ์ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เยาวชนและผู้ชมหันมาสนใจที่จะเรียนรู้วิทยาศาสตร์มากขึ้น
นายณัฐชนน อนุรพันธ์ (นนท์) ชั้น ม. 6 บอกว่า แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดความสนใจในในการเรียนรู้ ทำโครงงานและสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์มาจากการได้พบเห็นเทคโนโลยีและวิทยากรใหม่ ๆ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาแต่ละวันทำให้เกิดความสงสัยและต้องการที่จะเรียนรู้ คิดค้น ประดิษฐ์สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาเองบ้าง การได้เข้าร่วมแข่งขันรายการนี้ทำให้ได้นำความรู้มาสร้างผลงาน เป็นการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบบูรณาการ อีกทั้งยังมีโอกาสได้ทำงานจริงเป็นทีม ได้รับความรู้จากคณะกรรมการและคู่แข่งขัน นับเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้นอกห้องเรียน
“ผมชอบเรียนฟิสิกส์ เทคนิคการเรียนง่ายๆ คือ สนใจเรียนในห้องเรียนให้มากที่สุด หากไม่เข้าใจให้ถามอาจารย์ผู้สอน และอ่านหนังสือทบทวน ท้าทายตัวเองด้วยโจทย์สุดหิน เท่านี้ก็สามารถเรียนได้ดีและสนุกแน่นอน อนาคตอยากเป็นวิศวกร เพื่อนำความรู้มาสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม และมุ่งมั่นทำงานค้นคว้าพัฒนาตัวเองต่อไป”
นายศุภณัฐ หอมตระกูล (เจเจ) ชั้น ม. 6 บอกว่า ตนเองนั้นชอบเรียนคณิตศาสตร์ เทคนิคในการเรียนคณิตศาสตร์คือต้องฝึกทำโจทย์เป็นประจำ เข้าใจสูตร หาวิธีจำสูตรของตัวเอง และจดจำลำดับขั้นตอนการทำให้ถูกต้องแม่นยำ อนาคตนั้นเจเจอยากเป็นวิศวกรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
“รายการวิทยสัประยุทธ์ทำให้เยาวชนได้เห็นว่าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ก็สามารถกลายเป็นเรื่องสนุกได้ถ้าเราเข้าใจและรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ การมองสิ่งรอบๆ ตัวแล้วนำมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือใช้ทำโครงงานนั้นต้องวางแผนและกำหนดขั้นตอนการทำที่ชัดเจน เมื่อเราสร้างเสร็จ ได้ทดลอง เราก็จะได้พบกับปัญหาซึ่งจำนะไปสู่การแก้ไขผลงานต่อไป”
นายกิตติวัฒน์ อิทธิสารรณชัย (เกม) ชั้น ม. 4 กล่าวว่าชอบเรียนวิชาเคมี เพราะเป็นวิชาที่ไม่ต้องคำนวณมากและไม่ต้องจำมาก ความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็กคืออยากเป็นคุณหมอเพราะเป็นอาชีพที่เสียสละ ได้รักษาคนป่วย “การได้เข้าร่วมรายการวิทยสัประยุทธ์ทำให้รู้สึกสนุกมาก ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ทักษะต่าง ๆ ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ พี่ๆ ทีมงาน เช่น การทำงานช่าง กระบวนการคิด การนำเสนอต่างๆ”
อาจารย์เสาวณี เสถียรกุลพิทักษ์ หรือ ครูต่าย คุณครูที่ปรึกษา เล่าว่า จากการเข้าร่วมรายการวิทยสัประยุทธ์ของทีมโรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา ได้เห็นพัฒนาการของนักเรียนทั้งในด้านการนำเสนอ กระบวนการคิด การทดลอง จนถึงวันนี้ถือว่าพวกเขาทำได้ดีแล้ว ทำได้ถึงเป้าหมายสูงสุดตามที่ตั้งใจไว้แล้วคือ “แชมป์สายมหาสมุทร” นอกจากครูต่ายจะเป็นผู้ประสานงานเกี่ยวกับการเข้าร่วมแข่งขันรายการวิทยสัประยุทธ์ให้เด็กๆ แล้ว ยังมีอาจารย์สมยศ อานามนารถ เป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบกลไกต่าง ๆ ด้วย
“รายการนี้สอดคล้องกับเนื้อหาทั้งทางฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ อยู่แล้ว โจทย์ปัญหาในรายการต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับการนำรายการวิทยสัประยุทธ์ไปขยายผลสู่ชั้นเรียนนั้น ครูสามารถนำไปเป็นสื่อการสอน เปิดให้นักเรียนชมและวิเคราะห์ผลการทดลอง ใช้คำถามนำเพื่อให้นักเรียนเกิดความอยากเรียนรู้ เพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นครูยังสามารถนำรูปแบบของรายการวิทยสัประยุทธ์ไปปรับใช้เพื่อจุดประกายในการแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์ หรือการทำโครงงานและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ได้ด้วย”
ผลจากการดำเนินงานภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ปรากฏว่า รายการนี้สามารถคว้ารางวัล มาการันตีคุณภาพได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศประเภทสาขาเกมโชว์ยอดเยี่ยม จากเวที ASIAN TELEVISION AWARDS 2011 ครั้งที่ 16 ประจำปี 2554 ณ ประเทศสิงคโปร์ รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทรางวัลรายการส่งเสริมความรู้ทั่วไปดีเด่น จากชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ ครั้งที่ 26 ประจำปี 2554 และรางวัลเมขลา ครั้งที่ 24 รายการส่งเสริมความรู้และการศึกษามณีเมขลาดีเด่นยอดนิยม
ผู้สนใจติดตามชมได้ทางสถานีโทรทัศน์ ททบ. 5 และ www.facebook.com/vittayatv