อพท. ผนึกกำลัง สทอ. พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเลย

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday May 2, 2012 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--อพท. วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๕ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ภายใต้กรอบเวลาการดำเนินการ ๔ ปี (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๘) เพื่อสร้างเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (DASTA Low Carbon Route) และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (DASTA Creative Route) โดยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวอย่างน้อย ๔ เส้นทางในพื้นที่พิเศษเลยให้สำเร็จ พร้อมรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ในปี ๒๕๕๔ ข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวทั่วโลกรายงานว่า การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้ในหลายประเทศจะพบอุปสรรค มีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกประมาณ ๙๐๐ ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประมาณ ๑๙ ล้านคน ในทางกลับกัน ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ไปแบบขาดการดูแลรักษา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ก็ถูกปรับเปลี่ยนและไหลไปตามกระแสการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจ เกิดปัญหาจนกระจุกรวยกระจาย คนในชุมชนชนบทและท้องถิ่นกลายเป็น “ผู้ถูกเที่ยว” หรือเป็นเพียงแรงงานราคาถูก ที่ผ่านมา อพท. และ สทอ. ได้มีการหารือร่วมกันและรู้สึกถึงความเป็น Soul Mate เหมือนเป็นเนื้อคู่กันถูกใจใช่เลย อพท. มีพื้นที่พิเศษเลย ส่วน สทอ. มีองค์ความรู้และมีความชำนาญด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว เราก็จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่พิเศษเลย ทำอย่างไรจะมีเส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะต้องเริ่มต้นในการสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ทุกภาคส่วนในท้องถิ่น เชิญเขามาร่วมกระบวนการที่เรียกว่า Co-Creation หรือ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์” พื้นที่พิเศษเลย (สพพ.๕) ไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษทั้ง ๑๔ อำเภอ ปัจจุบันประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ ๙ อำเภอ แม้กระนั้น ๙ อำเภอก็มีพื้นที่ถึง ๗,๑๐๐ ตารางกิโลเมตร มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม วีถีชีวิตชุมชนกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ดังนั้น การนำเสนอก็จะเป็นคำตอบส่วนหนึ่งของคำตอบในระยะยาว ท้ายที่สุดแล้วผลผลิตที่ อพท. และ สทอ. จะร่วมกันดำเนินการคือ Route เส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั้งหลายอย่างเหมาะสม โดยกระบวนการมีส่วนร่วม จากโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ผู้ประกอบการ กิจการทัวร์ มัคคุเทศก์ ซึ่งจำเป็นจะต้องสร้างคุณสมบัติที่เหมาะสมและพัฒนาร่วมกับชุมชนเพื่อให้ผู้ที่เจ้าของท้องถิ่นนั้น ๆ ทุกฝ่ายได้ร่วมรับผลประโยชน์ แต่ลักษณะอาจไม่ใช่การให้และรับบริการอย่างชัดเจน เพราะต้องการให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเหมือนกับว่า “ไปเที่ยวบ้านเพื่อน” ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรู้สึกยินดีที่จะนำสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบการณ์จากการท่องเที่ยวถ่ายทอดออกมาผ่านการสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะหรือบอกกล่าวให้ผู้อื่นสนใจอยากจะมาเที่ยวหรืออยากจะกลับมาเที่ยวอีก กรอบความร่วมมือระยะ ๔ ปี จะเริ่มเห็นผลในช่วง ๒ ปีแรก (ปี ๒๕๕๗) ว่าจะเกิดเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อย่างน้อย ๔ เส้นทาง และจะนำเสนอขายในงาน “ไทยเที่ยวไทย” และเมื่อสิ้นสุดโครงการในระยะ ๔ ปี ก็จะนำผลผลิตเส้นทางการท่องเที่ยวนี้ไปนำเสนอใน Ecotourism Forum ที่ประเทศออสเตรเลีย และ WorldTravelMart ที่กรุงลอนดอน และ ITB ที่กรุงเบอร์ลิน ตรงนั้นจะไปทดสอบตลาดใหญ่ ซึ่งการพัฒนาจะต้องแล้วเสร็จเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเชียนในปี ๒๕๕๘ นางสาวสุมิตรา มัทธุรนนท์ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) กล่าวว่า การบริหารจัดการการท่องเที่ยวไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในวันนี้มีสิ่งท้าทายอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตภัยธรรมชาติ วิกฤตเศรษฐกิจ และสิ่งสำคัญเราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่ถึง ๓ ปีข้างหน้า ฉะนั้นการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่าง อพท. กับ สทอ. จะสร้างกรอบความร่วมมือ สร้างความรู้ความเข้าใจทุกภาคส่วน ทุกระดับ เพื่อที่จะบริหารวิกฤตและสิ่งท้าทายต่าง ๆ ได้ ซึ่ง สทอ. จะดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงปี ๒๕๕๘ โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว เจ้าของร้านอาหาร กลุ่มของที่ระลึก ภาคการขนส่ง และชุมชนในท้องถิ่น เราจะร่วมเดินทางไปพร้อม ๆ กันทั้ง สทอ. อพท. และพื้นที่พิเศษเลย จะเดินเคียงข้างกันเพื่อให้พื้นที่พิเศษเลยมีการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำหรับวิธีการทำเส้นทางท่องเที่ยวนั้น จะต้องดูว่าแหล่งท่องเที่ยวสามารถทำการตลาดได้หรือไม่ บางทีสถานที่สวยงามมากและทำการตลาดได้ แต่ความพร้อมในพื้นที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็จะต้องสร้างความพร้อมในพื้นที่ก่อน ซึ่ง สทอ. ได้เคยดำเนินโครงการ CSR มาแล้วจนเกิดองค์ความรู้ถึงวิธีการในการทำเส้นทางท่องเที่ยวสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องสร้างกระบวนการความร่วมมือกับทุกซัพพลายเออร์ให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อที่จะให้ทุกแหล่งท่องเที่ยวเป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว เช่น มัคคุเทศก์ต้องมีความชำนาญในเส้นทาง พานักท่องเที่ยวไปพักในโรงแรมสีเขียว รับประทานอาหารก็ต้องเป็นร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารสีเขียว ไปเที่ยวชุมชนสีเขียว ในช่วงแรกปี ๒๕๕๕ สทอ. จะเริ่มลงสำรวจพื้นที่พิเศษเลยโดยจะสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทุกจุด เพื่อรวบรวมผลการศึกษาความเป็นไปได้ของเส้นทางการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น (Feasibility Study) ปีที่สอง จะนำแหล่งท่องเที่ยวมาผูกเข้าเป็นเส้นทาง ปีที่สาม จะพัฒนาพื้นที่และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน และปีสุดท้ายจะทดสอบตลาดและทดสอบเส้นทาง ซึ่งขณะนี้ สทอ. ได้แบ่งทีมงานออกเป็น ๓ ทีม เพื่อสำรวจเส้นทางแต่ละเส้นทางแล้ว และจะประสานความร่วมมือกับ สพพ.๕ ในการลงพื้นที่ร่วมกัน โดยระหว่างการแถลงข่าว มีผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความคืบหน้าในการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ผู้อำนวยการ อพท. ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาคนในพื้นที่พิเศษเลยมีความต้องการให้สร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสต่อต้านจากคนนอกพื้นที่ ก็มีการหารือว่าถ้าประสงค์จะสร้างกระเช้าไฟฟ้าก็ควรจะนำเรื่องนี้มาบรรจุอยู่ภายในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของพื้นที่พิเศษเลย ซึ่งขณะนี้ อพท. กำลังดำเนินการจัดทำแผนแม่บทฯ อยู่ และยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าจะมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่พิเศษเลย อย่างไรก็ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๕ ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับ อพท. ในการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการตั้งคำของบประมาณเพื่อเตรียมการในรายละเอียดต่อไป โดยมี อพท. เป็นผู้สนับสนุนเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนา และแม้ว่าโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจะถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทฯ ของ อพท. แล้ว แต่ท้ายที่สุดก็ต้องดูสภาพทางการเงินของประเทศในระยะเวลานั้น ๆ ด้วยว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ สำหรับคนที่ไม่ต้องการให้มีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงก็มองว่า สิ่งที่ภูกระดึงเป็นอยู่มีเสน่ห์อยู่แล้ว แต่ อพท. ซึ่งมีหน้าที่ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เรามีความจำเป็นจะต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายบนพื้นฐานของปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งการให้น้ำหนักในแต่ละปัจจัยของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ไม่เหมือนกัน พอเอาน้ำหนักไปคูณกับปัจจัยแล้วคะแนนออกมาไม่เท่ากัน จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายยอมรับความคิดเห็นในความแตกต่างเป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงเรื่องการสร้างกระเช้าไฟฟ้าในฝั่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า เนื่องจากทำเลขึ้นภูกระดึงในฝั่งจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นหน้าผาสูงชันขึ้นลงลำบากมาก แต่คนในจังหวัดสนใจอยากจะทำกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างหอคอยหรือลิฟต์เพื่อขึ้นภูกระดึง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทั่วไปและผู้ป่วย รวมทั้งนำเอาขยะบนยอดภูกระดึงลงมาทิ้ง และจำกัดจำนวนที่พักบนยอดภูกระดึงเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ จึงอยากให้ อพท. พิจารณาเส้นทางการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงเพิ่มเติมจากเส้นทางในพื้นที่พิเศษเลยด้วย ติดต่อสอบถามได้ที่ ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร อพท. Chompunuth.t@dasta.or.th และ chomphunut981@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ