กรุงเทพมหานคร จับมือนักวิชาการจุฬาและประชาชน เพื่อร่วมวางแผนวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี

ข่าวทั่วไป Wednesday May 2, 2012 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--วีม คอมมูนิเคชั่น กทม.จับมือนักวิชาการจุฬาและประชาชนจัดทำวิจัยเพื่อสร้างต้นแบบวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานครระยะยาวใน 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2556-2575) เพื่อหาแนวทางการพัฒนาเมือง ทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม คุณภาพชีวิต ประชากร และการบริหารจัดการ เพื่อให้การดำเนินงานในมิติต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นักวิชาการระบุชัด แผนดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นแผนของประชาชนชาวกรุงเทพฯ เพราะทำขึ้นจาก “ความคาดหวังและฉันทามติ” ของชาวกรุงเทพมหานครและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆคาดกำหนดร่างแผนเสร็จช่วงสิ้นปี 2555 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษและมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพันธกิจในการพัฒนามหานครกรุงเทพ ให้เจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัดทำโครงการศึกษาวิจัย การจัดทำวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ขึ้น (พ.ศ.2556 — 2575) ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางในการกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาเมือง ทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม คุณภาพชีวิต ประชากร และการบริหารจัดการ เพื่อให้การดำเนินงานในด้านต่างๆ รวมถึงการใช้ทรัพยากรของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหลักที่ชาวกรุงเทพมหานครและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงต้องประสบอยู่ในปัจจุบัน และสามารถนำพาซึ่งกรุงเทพมหานครไปสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยแห่งหนึ่งของโลกนั่นเอง ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะที่ปรึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการวิจัยแผนวิสัยทัศน์ยี่สิบปีของกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อใช้เป็นกรอบในการวางแผนพัฒนากรุงเทพมหานครในภาพรวม และใช้เป็นเครื่องมือกำกับดูแลการบริหารราชการกรุงเทพมหานครในอนาคต ซึ่งจะให้ความสำคัญแก่การเสริมสร้างทักษะและขีดความสามารถให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก (civic empowerment) เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นภาคีหุ้นส่วนที่สำคัญ (partnership) ในการส่งเสริมและติดตามดูแลการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นไปในทิศทางที่ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย (stakeholders) ร่วมกันกำหนดขึ้นเป็นวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานคร “แผนวิสัยทัศน์ยี่สิบปีนี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นแผนของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง สำหรับใช้เป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีทิศทาง มีพลัง และมีความยั่งยืนต่อเนื่องไปในอีก 20 ปีข้างหน้า แผนวิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้จึงจะจัดทำขึ้นจาก “ความคาดหวังและฉันทามติ” ของชาวกรุงเทพมหานครและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้แผนดังกล่าวจะมีเนื้อหาสาระและกระบวนการจัดทำแผนที่มีความแตกต่างไปจากแผนพัฒนาของกรุงเทพมหานครฉบับอื่นๆ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกลุ่มผู้บริหารของ กทม. นักวิชาการ และเทคโนแครตเป็นหลัก เพื่อให้กรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้ประโยชน์ในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และใช้เป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณของส่วนงานต่างๆ ตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการเพียงเท่านั้น” ดร.จรัส กล่าว แนวทางการพัฒนาแผนวิสัยทัศน์ยี่สิบปีในฉบับนี้จะประกอบด้วยวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์หลักๆ ในการพัฒนากรุงเทพมหานครในอีก 20 ปีข้างหน้า “วิสัยทัศน์” หรือจุดมุ่งหมายของเมืองกรุงเทพฯ ที่ว่านี้จะมีลักษณะเป็นรูปธรรม มองเห็นได้ (visible) เข้าถึงได้ (accessible) วัดได้ (measurable) เป็นวิสัยทัศน์ฯ ที่เป็นความฝันของชาวกรุงเทพมหานครที่มีความเป็นไปได้ในทางวิชาการและในทางปฏิบัติ และสามารถรองรับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิศาสตร์ ทางกายภาพ ทางเศรษฐกิจและสังคม และทางด้านการเมืองการปกครองได้อย่างแท้จริง ส่วนยุทธศาสตร์ และ/หรือกลยุทธ์หลักๆ ในการพัฒนา ซึ่งชาวกรุงเทพมหานครจะใช้ในการขับเคลื่อนและกำกับดูแลการพัฒนากรุงเทพมหานครในอนาคตนั้น จะต้องจัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นมาตรการที่มีความเป็นรูปธรรมหรือกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติได้ (concrete strategic measures) ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการได้โดยง่าย (easy access and participation) อีกทั้งเป็นมาตรการที่ชาวกรุงเทพฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบ ยืนยัน สัญญาร่วมกันว่าจะช่วยกันดำเนินการ (collaborative ownership) เพื่อการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานครในอีกยี่สิบปีร่วมกัน ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานครจะดำเนินการต่อยอดจากแผนการพัฒนากรุงเทพมหานครที่ได้เคยมีการจัดทำไว้แล้วก่อนหน้านี้ อาทิ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 12 ปี (พ.ศ.2552 — 2563) โดยที่วิสัยทัศน์กรุงเทพมหานครที่จะจัดทำขึ้นในครั้งนี้จะครอบคลุมมิติของการพัฒนา (Thematic Visions) ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การพัฒนาในเชิงกายภาพเพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและการจราจรในระดับภูมิภาค (2) การพัฒนาในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของชาวกรุงเทพมหานคร (3) การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและวัฒนธรรม และการเป็นชุมชนที่น่าอยู่ และ (4) การพัฒนาด้านการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารกรุงเทพมหานครเพื่อความเป็นเลิศในด้านการพัฒนา โดยขั้นตอนการจัดทำจะเริ่มจากการทำเวทเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ จำนวน 6 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน และ การประชุมกลุ่มย่อย โดยจะมีกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้ชาว กทม. ร่วมเป็นเจ้าของวิสัยทัศน์ “กทม. 2575” ในช่วงเดือนสิงหาคม ถึง กันยายน ก่อนที่จะทำการส่งมอบวิสัยทัศน์นี้ในช่วงเดือน พฤศจิกายนแก่กรุงเทพมหานคร การนำเสนอแผนดังกล่าว จึงเป็นกระบวนการจัดทำแผนที่เป็นของชาวกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง ในฐานะที่มีบทบาทเป็นเจ้าของมหานครกรุงเทพตัวจริง ทั้งนี้ ด้วยประสบการณ์อันยาวนานของคณะที่ปรึกษาฯ ที่มีทีมงานหลายท่านมีความคุ้นเคยกับการวางแผนพัฒนากรุงเทพมหานครในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านกายภาพ ผังเมือง การจราจรและวิศวกรรม การขนส่ง การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม และการบริหารจัดการ คณะที่ปรึกษาฯ เชื่อว่าจะสามารถเริ่มต้นการทำงานวางแผนวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานครได้ในทันที และพร้อมที่จะเปิดประตูการเมืองภาคประชาชนให้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนากรุงเทพมหานครได้ในระยะเวลาอันสั้น ด้วยเหตุนี้ การจัดทำวิสัยทัศน์ยี่สิบปีแห่งการพัฒนากรุงเทพมหานครในครั้งนี้จะเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นลงในระยะเวลาอันใกล้ โดยใช้เวลาในการดำเนินงาน 360 วัน หรือคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2555 นี้อย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ