สกว. ขอเชิญสื่อมวลชนร่วมรับฟังแนวทางการจัดการความรู้ในภาคประชาชน เรื่อง "ชุมชนกับการจัดการความรู้ : กรณีแม่สรวย - เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย"

ข่าวทั่วไป Wednesday May 26, 2004 11:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สกว.
ผลจากการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การพัฒนาที่เป็นการกำหนดจากภายนอกบ่อยครั้งไม่ได้สร้างประโยชน์กับท้องถิ่น แต่กลับสร้างปัญหาและผลกระทบให้เกิดขึ้นต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของผู้คน เราจึงเห็นปรากฏการณ์ของการรวมกลุ่มกันต่อต้านอยู่บ่อยครั้ง และพยายามสร้างทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่จะเอื้อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายบนฐานคิดของความยุติธรรม
ชุมชนลุ่มน้ำลาว แม่สรวย-เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตผู้คนมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อการเข้ามาของโครงการพัฒนาที่ทำให้ดินแดนไม่มีค่า กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกขนาดใหญ่ การสร้างพืชเศรษฐกิจเมืองหนาว การเข้ามาของกลุ่มทุน และการใช้ทรัพยากรดินและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรร่วมของชุมชนอย่างจาบจ้วง การรวมพลังเพื่อต่อสู้ในการปกป้องรักษาสิทธิในทรัพยากรเพื่อชีวิตจึงเป็นทางออกของคนที่นี่ และจุดเริ่มต้นของการแสดงพลังคือ การร่วมกันรวบรวมและสร้างองค์ความรู้ที่จะบอกให้ภายนอกได้รู้ว่าพวกเขาคือใคร เป็นอย่างไร คิดอย่างไร และต้องการอะไร จากงานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์ ของ สกว. โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นหัวหน้าโครงการ โดยเน้นสนับสนุนให้คนพื้นที่เป็นผู้ทำวิจัยด้วยตนเอง การรวมตัวของกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ในพื้นที่จึงเกิดขึ้น และชี้ให้เห็นพัฒนาการและจุดร่วมของความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นราบกับชาวดอย ในด้านต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์อย่างสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าวไว้ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดศรีสุทธาวาส ซึ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิตที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนลุ่มน้ำลาวจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ของ สกว. ตระหนักถึงความสำคัญของพลังชุมชนกับการเรียนรู้ ซึ่งการสนับสนุนให้ชุมชนมี"การจัดการความรู้"เป็นเครื่องมือที่ดีที่สามารถสร้างและใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการใช้ต่อรองกับอำนาจและทุนที่เข้ามาเบียดขับชาวบ้านอย่างไม่เป็นธรรม สคส.จึงจัดการอภิปรายเรื่อง "ชุมชนกับการจัดการความรู้ : แม่สรวย-เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย" โดยทีมนักวิจัยชาวบ้าน ในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2547 เวลา 13.00-17.00 น. ณ ห้องบรรยาย 1 หน่วยประสานงาน ม.วลัยลักษณ์ ชั้น 19 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์ (ตรงข้ามช่อง 5) ถนนพหลโยธิน พญาไท กรุงเทพฯ
กำหนดการอภิปราย
"ชุมชนกับการจัดการความรู้ : แม่สรวย - เวียงป่าเป้า"
จัดโดย สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2547 เวลา13.00 - 17.00 น.
ณ ห้องบรรยาย 1 หน่วยงานประสานงาน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ชั้น 19 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์ ถนนพหลโยธิน
13.00 -13.30 น. ลงทะเบียน
13.30 -13.35 น. กล่าวต้อนรับเข้าสู่การประชุมและแนะนำวิทยากร
โดย คุณนิตยา พิริยธรรมวงศ์ นักวิชาการอาวุโส
13. 35-15.45 น. การอภิปรายเรื่อง"ชุมชนกับการจัดการความรู้ : แม่สรวย - เวียงป่าเป้า จ.
เชียงราย" ในหัวข้อ
- ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ งานวิจัยบอกตัวตนคนท้องถิ่น
โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม หัวหน้าโครงการวิจัยการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์
อ.แม่สรวย-เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
- เหมืองฝาย : ระบบจัดการน้ำที่เปลี่ยนไป
โดย นายวัจกรณ์ วงศ์ชมภู นักวิจัยชาวบ้าน
- เขื่อน - สวนส้ม : ผลของการพัฒนาสร้างอะไรกับชุมชน
โดย น.ส.สุกัญญา แสงหล้า นักพัฒนาท้องถิ่น
- ป่าเมี่ยง : วิถีเศรษฐกิจชุมชนบนความเปลี่ยนแปลง โอกาสและทางเลือก
โดย พระอาจารย์บรรพต เจ้าอาวาสวัดศรีสุทธาวาส
- พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : แหล่งเรียนรู้มีชีวิต ฐานข้อมูลชุมชนเพื่อการพัฒนา
โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม
ชี้ประเด็นการจัดการความรู้โดย และดำเนินการอภิปรายโดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด
ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาเรียนรู้ สคส.
15.45 - 16.45 น. ผู้เข้าร่วมประชุมอภิปราย - ซักถาม
16.45 - 17.00 น. สรุปและปิดการประชุม
โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการ สคส.--จบ--
-นท-

แท็ก สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ