เอฟบีแบตเตอรี่ รุกตลาดแบตเตอรี่ ตั้งเป้าโต 15% ผลจากเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Wednesday May 26, 2004 11:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
เอฟบีแบตเตอรี่ รุกตลาดแบตเตอรี่ ตั้งเป้าโต 15% ผลจากเศรษฐกิจโตต่อเนื่องพร้อมจับมือกับกิจการค้าร่วม บีเอสพีอาร์ ขยายพื้นที่ให้บริการไฟฟ้า ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์โฮม)
เอฟบีแบตเตอรี่ ฉวยจังหวะเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง รุกตลาดแบตเตอรี่ ตั้งเป้าเติบโต 15% พร้อมจับมือกับกิจการค้าร่วม บีเอสพีอาร์ ส่งมอบแบตเตอรี่ คุณภาพเยี่ยม HP125 "Deep Cycle Battery" สุดยอดแห่งการผสมผสานเทคโนโลยีและธรรมชาติ เพื่อสะสมพลังงานให้มีอายุการใช้งานที่นานกว่า สำหรับเข้าติดตั้งอุปกรณ์สำหรับระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อขยายโอกาสให้คนไทยได้มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน และได้รับรู้ข่าวสารจำนวนกว่า 290,716 ครัวเรือน โดยได้รับมอบหมายให้เข้าติดตั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21,815 ครัวเรือน
นายธวัชชัย วงศ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามฟูรูกาวาเทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะ "เอฟบี แบตเตอรี่" เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า บริษัท สยามฟูรูกาวา จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท ฟูรูกาวา แบตเตอรี่ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูง และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วโลก มากว่า 40 ปี และจากวิสัยทัศน์ของบริษัทในอันที่จะ "มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าให้เป็นผู้นำ โดยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต มุ่งเน้นการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจสูงสุด และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม" ผนวกกับความตั้งใจจริงในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้ได้ขุมพลังไฟฟ้าที่เหมาะกับยานยนต์ในยุคใหม่อย่างแท้จริง บริษัทฯ จึงไม่หยุดยั้งในการพัฒนาคิดค้น คัดเลือกวัตถุดิบ ทดสอบการใช้งานในสภาพที่เป็นจริง นอกจากนี้ในทุกขั้นตอนของการผลิต ผ่านการควบคุมจากผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีระบบการตรวจสอบด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีความถูกต้องและแม่นยำสูงเพื่อให้ได้ แบตเตอรี่ เอฟบี มีคุณสมบัติที่ดีเยี่ยม ทนทานกับการใช้งานเพื่อให้ผู้บริโภคพึงพอใจ
สำหรับภาพรวมและแนวโน้มของตลาดแบตเตอรี่ในไทยนั้น โดยรวมแล้วตลาดแบตเตอรี่เป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี แม้ว่าจะมีช่วงวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5-7% ทุกปี ทั้งนี้จะมากหรือน้อยจะแปรผันตามปริมาณยอดจำหน่ายรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นสำคัญ โดยมูลค่าตลาดรวมของแบตเตอรี่จะอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี บริษัทมีการส่งออกแบตเตอรี่ไปจำหน่ายยัง 46 ประเทศทั่วโลก โดยตลาดหลักจะอยู่ในแถบตะวันออกกลางและเอเชียแปซิฟิก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% และจำหน่ายในตลาดภายในประเทศอีก 50% ในปี 2547 นี้ บริษัทตั้งเป้าอัตราการเติบโตไว้ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาคือ 15% โดยใช้กลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าออกไปให้กว้างมากขึ้น ในปัจจุบัน บริษัทฯ มีร้านค้าตัวแทนจำหน่ายกว่า 400 รายทั่วประเทศ แบ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ ประมาณ 120 ราย และต่างจังหวัดประมาณ 300 ราย
และดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ในปัจจุบันแบตเตอรี่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ในอนาคต แบตเตอรี่จะขยายบทบาทเข้าไปสู่ทั้งในภาคการเกษตรและภาคครัวเรือน โดยจะมีส่วนในการเป็น พลังงานสำรองสำหรับพื้นที่ห่างไกล ดังเช่นโครงการระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์โฮม (Solar Home) ซึ่งล่าสุดบริษัทได้รุกและขยายตลาดเข้าไปในโครงการโซลาร์โฮมด้วย โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มกิจการค้าร่วมบีเอสพีอาร์ ที่ได้รับมอบหมายจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เป็นผู้ก่อสร้างและติดตั้งระบบดังกล่าวให้กับประชาชานในพื้นที่ห่างไกลในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายสมพงศ์ นครศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกโซลาร์ จำกัด หนึ่งในกลุ่มกิจการค้าร่วมบีเอสพีอาร์ (BSPR Consortium) ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท บางกอกโซลาร์ จำกัด, บริษัท ศรีอู่ทอง จำกัด, บริษัท โปรเมค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท อาร์ ซี อาร์ จำกัด โดยนายสมพงศ์ได้กล่าวถึงที่มาของ โครงการนี้ว่า มีที่มาจากการที่ นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ได้มอบหมายนโยบายให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ให้มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง อย่างน้อยมีโทรทัศน์ดู เพื่อรับรู้ข่าวสาร เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องให้การสนับสนุน เพื่อความเสมอภาคของประชาชน โดยตั้งเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ภายในปี 2547- เมษายน 2548 โดยมีหลักการว่า บ้านเรือน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่สามารถปักเสาพาดสายได้ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเร่งดำเนินการ ส่วนบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในเขตป่าเขา หรือ เกาะ ฯลฯ ที่ไม่อาจปักเสาพาดสายได้ให้ใช้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Home System) โดยนำระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือน (Solar Home System) มาติดตั้งให้แก่ครัวเรือนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้และอยู่ห่างไกลที่ไม่สามารถให้บริการไฟฟ้า โดยจะทำการฝึกอบรมประชาชนให้มีความรู้เกี่ยวกับการใช้และการบำรุงรักษา ฯลฯ ใช้งบประมาณดำเนินการจากเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี งบประมาณ พ.ศ. 2547 และ 2548 รวมทั้งสิ้น 7,631,295,000 บาท (เจ็ดพันหกร้อยสามสิบเอ็ดล้านสองแสนเก้าหมื่นห้าพันบาทถ้วน) โครงการระยะแรกปีงบประมาณ 2547 ใช้งบประมาณ 3,825 ล้านบาท สำหรับ 153,000 ครัวเรือน โดยมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งครัวเรือนละ 25,000 บาท ซึ่งสามารถจ่ายไฟด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 120 วัตต์ ด้วยไฟฟ้ากระแสสลับใช้กับหลอดฟลูออเรสเซนต์ 10 วัตต์ จำนวน 2 หลอด และโทรทัศน์สี 14 นิ้ว 1 เครื่อง กลุ่มของบีเอสพีอาร์ ได้รับมอบหมายให้ทำการก่อสร้างและติดตั้งในกลุ่มพื้นที่ 3 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนทั้งสิ้น 21,815 ครัวเรือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 545,375,000 ล้านบาท
โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ก็คือ
1. ประชาชนทุกครัวเรือนในประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้
2. ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและรับรู้ข้อมูลข่าวสารเท่าเทียมกัน สามารถทราบเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันเหตุการณ์ ทำให้วิธีการดำรงชีวิตมีคุณภาพดีขึ้น
3. ส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลในด้านการส่งเสริมสิทธิในการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน
นายธวัชชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ได้เข้าร่วมกับกิจการค้าร่วมบีเอสพีอาร์ ในการขยายพื้นที่ให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Home System) ตามนโยบายของรัฐบาลในการที่จะช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ให้มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนอย่างทั่วถึง และส่งเสริมให้ได้รับรู้ข่าวสารผ่านทางเครื่องรับโทรทัศน์ โดยใน 1 ชุดอุปกรณ์จะประกอบด้วย แผงเซลล์แสงอาทิตย์ พร้อมชุดโครงสร้างรองรับชุดแผงเซลล์แสงอาทิตย์, อินเวอร์เตอร์และชุดควบคุมการประจุและจ่ายไฟของแบตเตอรี่ และแบตเตอรี่ขนาดไม่ต่ำกว่า 125 แอมแปร์ โดยบริษัทได้เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับโครงการนี้ คือ แบตเตอรี่ชนิด Deep Cycle รุ่น HP 125 ซึ่งได้สิทธ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่ต้นแบบจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น นับเป็นสุดยอดแห่งการผสมผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและธรรมชาติ ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายทั้งในญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศทั่วโลก มีความสามารถในการเก็บสำรองไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป นอกจากนี้ โรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่เอฟบี ยังเป็นโรงงานที่ผลิตภายใต้มาตรฐานซึ่งได้รับการ รับรองคุณภาพจากสถาบันต่าง ๆ อย่างครบครัน ทั้ง ISO9000, QS9000, ISO14001 และมาตรฐาน มอก. อีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
จิดาภา ประมวลทรัพย์, วรรณารี ศิลปงาม
บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
โทร. 0-2693-7835-8 ต่อ 32, 42, 0-1817-7153
E-mail: jidapa@siampr.co.th--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ