กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล ร่วมกับ สกอ. นำนักศึกษาทุนปริญญาเอกและผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาชายแดนใต้ ลงพื้นที่ จ.สตูล เรียนรู้วัฒนธรรมและเตรียมความพร้อม ในการปรับตัวเข้าสู่ชุมชนก่อนสำเร็จการศึกษา
ดร.ป้องศักดิ์ ทองเนื้อแข็ง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตและสิทธิประโยชน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26-28 ที่ผ่านมา มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) นำผู้รับทุนปริญญาเอกและผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย สตูล ยะลา นราธิวาส และ ปัตตานี ลงพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของชุมชน ตลอดจนรับทราบถึงที่มาของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจและเข้าถึงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของผู้รับทุน ภายหลังสำเร็จการศึกษา
ดร.ป้องศักดิ์ กล่าวอีกว่า จังหวัดสตูลมีความเหมาะสมในการใช้เป็นกรณีศึกษา สำหรับบ่มเพาะแนวคิดการอยู่ร่วมกันและการทำงานบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ไม่มีแนวคิดและความรุนแรงด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม ประกอบกับ มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล มีนักศึกษาทุนปริญญาเอกในโครงการดังกล่าว จำนวน 40 คน จึงเป็นโอกาสให้ผู้รับทุนได้เดินทางกลับมาเยี่ยมพื้นที่ๆ จะต้องปฏิบัติงานในอนาคต ก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งจะทำให้นักศึกษาทุนปริญญาเอกมีความใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น ส่งผลดีต่อการปรับตัวและเรียนรู้สภาพพื้นที่จริง อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงานต่อไป
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตและสิทธิประโยชน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความพร้อมของ มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล ขณะนี้มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ภายใต้งบประมาณ 17 ล้านบาท อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และการตรวจรับแบบอาคารเรียนรวม หอพักนักศึกษา อาคารสำนักงานอธิการบดี เพื่อรองรับงบประมาณ จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นรูปธรรมในปี 2556 ทั้งนี้ พัฒนาการในการจัดตั้ง มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล เป็นผลมาจากการสนับสนุนของคณาจารย์ ที่ได้สละเวลาเดินทางไปจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษา ตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล และสภา มรภ.สงขลา ที่มีมติให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนและจัดตั้งวิทยาเขต ทำให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน