เอกชนเผยปัญหาน้ำมันแพงและสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบให้คำสั่งซื้อสินค้าหดตัวต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Wednesday May 26, 2004 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--ส.อ.ท.
เอกชนเผยปัญหาน้ำมันแพงและสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบให้คำสั่งซื้อสินค้าหดตัวต่อเนื่อง จนหวั่นยอดผลิต 3 เดือนหน้าชะลอตัวหนัก ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนเมษายนทรุดต่ำกว่า 100
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน2547 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 432 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั้ง 30 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาห-กรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 98.2 จาก 106.3 ในเดือนมีนาคม 2547 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในเดือนเมษายนขณะทำการสำรวจ ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อ ภาวการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยเรื่องยอดคำสั่งซื้อสินค้าที่พบว่า มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2547 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดคำสั่งซื้อเดือนเมษายนได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 120.4 จาก 125.5 ในเดือนมีนาคม และ 130.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นสอดคล้องกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดคำสั่งซื้อของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เกิดจากปัญหาความไม่แน่นอนของสถาน-การณ์ต่างๆ ที่ยังไม่คลี่คลาย เช่น สถานการณ์การก่อการร้ายข้ามชาติ สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุน ธุรกิจการท่องเที่ยวและกำลังซื้อของผู้บริโภค อีกทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้านอื่นๆ เช่น ค่าขนส่ง ราคาวัตถุดิบ เริ่มปรับราคาสูงขึ้นไปแล้วในขณะนี้นั้น ยังเป็นปัจจัยลบที่ก่อความกังวลแก่ผู้ประกอบการทุกกลุ่ม โดยผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐจะไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมต่อไปอีกได้นาน ขณะที่ยังไม่มีการหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการในเรื่องต่างๆ อย่างจริงจัง เช่น ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ปัญหาถูกประเทศคู่ค้าฟ้องทุ่มตลาด ปัญหาถูกทุ่มตลาดจากสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลระดับราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในภาคอุต-สาหกรรมอย่างใกล้ชิด โดยผลสำรวจเห็นว่าราคาน้ำมันดีเซลควรอยู่ที่ระดับ 13.93 บาท/ลิตร ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีการนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อทำการผลิตต่อ เสนอให้รัฐบาลมีการทบทวนในเรื่องของภาษีนำเข้าวัตถุดิบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้กิจการสามารถแข่งขันได้ต่อไป นอกจากนี้ ควรเร่งขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ และเสริมศักยภาพในตลาดส่งออกที่มีอยู่เดิม รวมถึงควรออกมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่จะเข้ามาแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ ควบคู่กับออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องมากขึ้นในช่วงนี้
และผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นรายปัจจัยในเดือนเมษายน 2547 นี้ นอกจากค่าดัชนียอดคำสั่งซื้อที่ได้ปรับตัวลดลงแล้ว ยังพบว่าดัชนีปริมาณการผลิตมีการปรับค่าลดลงเช่นกัน โดยลดลงอย่างมากจาก 126.2 ในเดือนมีนาคม เป็น 108.4 ในเดือนเมษายน ซึ่งการที่ค่าดัชนี 2 ใน 5 ตัวที่นำมาใช้คำนวณดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ค่าดัชนี 3 ตัวที่เหลือ ได้แก่ ยอดขาย ต้นทุนการผลิต และกำไรสุทธิ ปรับค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 126.4 48.6 และ 112.1 ในเดือนมีนาคม เป็น 132.1 51.5 และ 119.0 ในเดือนเมษายน ตามลำดับนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2547 นี้ ลดต่ำลงกว่า 100 มาอยู่ที่ 98.2 ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนเมษายน2547 มีรายละเอียดดังนี้ ดัชนีที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดคำสั่งซื้อต่างประเทศ ยอดขายต่างประเทศ สินค้าคงเหลือ ลดลงจาก 131.2 132.8 และ 121.8 เป็น 129.5 132.6 และ 102.7 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการแข่งขันในต่างประเทศ ต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศและต่อสภาวะการประกอบการของกิจการตน ที่ปรับตัวลดลงจาก 116.4 127.8 และ 126.7 เป็น 115.4 126.9 และ 126.3 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีที่ปรับค่าเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับทรงตัว ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ต่อยอดขายในประเทศ ต่อราคาขาย และต่อการจ้างงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 124.2 124.7 104.2 และ 100.5 ในเดือนมีนาคม เป็น 134.1 132.8 111.2 และ 104.9 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการใช้กำลังการผลิต เกี่ยวกับการลงทุนของกิจการ เกี่ยวกับสินเชื่อในการประกอบการที่ได้รับและต่อสภาพคล่องของกิจการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 111.4 108.5 102.2 และ 124.5 ในเดือนมีนาคม เป็น 114.0 111.5 106.1 และ 125.9 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อความสามารถต่อการแข่งขันในประเทศ และต่อสภาวะของกลุ่มอุตสาหกรรมของตนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 113.4 และ 118.5 เป็น 117.7 และ 119.2 ในเดือนเมษายน
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมฯ โดยจำแนกในตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภา อุตสาหกรรมฯ จำนวน 30 กลุ่ม พบว่า เมื่อพิจารณาค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนมีนาคมกับเดือนเมษายน 2547 มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 19 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งในกลุ่มที่ปรับตัวลดลง มี 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์ ลดลงจาก 106.7 เป็น 96.7 อุตสาหกรรมแก้วและกระจก ลดลงจาก 117.1 เป็น 88.6 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ ลดลงจาก 100.0 เป็น 82.9 อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ลดลงจาก 151.4 เป็น 105.7 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์ ลดลงจาก 129.3 เป็น 101.4 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ลดลงจาก 101.9 เป็น 77.8 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ลดลงจาก 97.1 เป็น 82.9 อุตสาหกรรมพลาสติก ลดลงจาก 102.1 เป็น 86.7 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ลดลงจาก 125.7 เป็น 88.6 อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น ลดลงจาก 105.7 เป็น 94.0 อุตสาหกรรมยานยนต์ ลดลงจาก 138.6 เป็น 100.9 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ลดลงจาก 110.0 เป็น 92.9 อุตสาหกรรมเหล็ก ลดลงจาก 107.1 เป็น 74.7 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดลงจาก 118.6 เป็น 82.5 สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าดัชนีของรายกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ปรับตัวลดลงอย่างมาก เนื่องมาจากปัญหาราคาต้นทุนวัตถุดิบสูง สภาวะการแข่งขันในตลาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น และถูกสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแย่งตลาด ในทางกลับกัน มี 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรการเกษตร เพิ่มขึ้นจาก 88.6 เป็น 98.6 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นจาก 110.3 เป็น 129.3 อุตสาหกรรมสิ่งทอ เพิ่มขึ้นจาก 89.8 เป็น 137.1 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เพิ่มขึ้นจาก 109.3 เป็น 121.3 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นจาก 102.9 เป็น 117.3
ในด้านของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกิจการในแต่ละอุตสาหกรรม ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่าปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อกิจการอย่างชัดเจนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ผู้ประกอบการเห็นว่าในอนาคตราคาบริการสาธารณูปโภคและสภาวะเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการมากขึ้น
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการพบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน ขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน และขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2547 ที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 94.2 111.0 และ 119.9 เป็น 92.0 99.7 และ 101.8 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องมาจากยอดคำสั่งซื้อในปัจจุบันของผู้ประกอบการทุกขนาดอยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่มีความเชื่อมั่นต่อต้นทุนการผลิตลดลง เนื่องจากความกังวลเรื่องราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และผู้ประกอบการเห็นว่าราคาน้ำมันยังจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการต่อไปในอนาคต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
แผนกประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 229-4255 ต่อ 122 และ 123 โทรสาร 229-4054--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ