กปภ.ช.หารือจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนแผน ปภ.ชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday May 3, 2012 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กปภ.ช. คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมผลักดันการจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 — 2557 (เฉพาะกรณีภัยระดับ 3 และ 4) รวมทั้งปรับปรุงระบบการแจ้งเตือนภัยจากระดับประเทศสู่ชุมชน เพื่อให้การบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศมีประสิทธิภาพ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสาธารณภัยรุนแรง สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศในการบริหารจัดการ สาธารณภัย ประกอบกับในปี 2555 ประเทศได้รับมอบตำแหน่งประธานคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ACDM) โดยมีอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นประธาน ACDM เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและแผนการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553-2557 ให้มีความสอดคล้องกับข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินของคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ACDM) ดังนั้น ที่ประชุม กปภ.ช.จึงได้พิจารณาให้ มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการกิจการด้านต่างประเทศว่าด้วยการจัดการสาธารณภัย โดยมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดแนวทางและแผนยุทธศาสตร์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลกด้านการจัดการภัยพิบัติของไทย นอกจากนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553-2557 ไปสู่การปฏิบัติ จะได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ศอร.ปภ.ช.) ให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการภัยทั้งในภาวะปกติและก่อนเกิดภัย ส่วนในขณะเกิดภัย (เฉพาะกรณีภัยระดับ 3 และ 4 ) ได้จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) เป็นองค์กรปฏิบัติตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๕๗ ซึ่งมีความพร้อมในการรับมือสาธารณภัยขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรง โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบัญชาการ การประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการสาธารณภัย ภายใต้การควบคุมและกำกับดูและของนายกรัฐมนตรี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการและประสานการปฏิบัติด้านการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอย่างครบวงจร นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงระบบการแจ้งเตือนภัยจากระดับประเทศสู่ชุมชน เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดทำแนวทางการแจ้งเตือนภัย (อุทกภัย) จากระดับชาติถึงชุมชน ครอบคลุม 5 ขั้นตอน ได้แก่ การเฝ้าระวัง (Monitoring) การแจ้งเตือนล่วงหน้า (Early Warning) ซึ่งจะดำเนินการแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน การเตือนภัย (Warning) โดยเชื่อมโยงคลังข้อมูลอย่างเป็นระบบ พร้อมวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ภัย และจัดระดับการแจ้งเตือนใน 3 ระดับ ดังนี้ ระดับวิกฤติ (สีแดง) ระดับเฝ้าระวังพิเศษ (สีส้ม) ระดับ เฝ้าระวัง (สีเหลือง) การปฏิบัติและเผชิญเหตุ (Operation and Response) และการอพยพประชาชน/ชุมชน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการกรรมการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้นำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจาก ที่ประชุม กปภ.ช. ไปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดกรอบแผนยุทธศาสตร์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระหว่างประเทศ ปรับปรุงแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553-2557 ให้สอดคล้องกับกลไก ของ ศอร.ปภ.ช. และ บก.ปภ.ช. รวมทั้งวางระบบการแจ้งเตือนภัยจากระดับประเทศสู่ชุมชน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศมีเอกภาพ เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อสถานการณ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ