กรมป่าไม้ขอเชิญรับกล้ากระถินณรงค์สายพันธุ์ใหม่

ข่าวทั่วไป Friday May 4, 2012 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กรมป่าไม้ การจัดการทรัพยากรป่าไม้ เป็นภารกิจของกรมป่าไม้ โดยการควบคุมดูแลและป้องกันการบุกรุกการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ยังมีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ การจัดการป่าชุมชน การปลูกป่าในรูปแบบต่าง ๆ และการปลูกป่าเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ประเทศไทย รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรที่ปลูกป่าไม้ ซึ่งที่ผ่านมามีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่กรมป่าไม้ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือ “กระถินณรงค์ลูกผสมพันธุ์ใหม่” ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยสถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กระถินณรงค์ เป็นไม้โตเร็ว อยู่ในวงศ์ Leguminosae-Mimosoideae สกุล Acacia มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Acacia auriculiformis A.Cunn. ex Benth. มีถิ่นกำเนิดธรรมชาติอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย ในประเทศไทยเชื่อกันว่าร้อยโทธนณรงค์ ชวนกิจ (ชวน ณรงคะชวน) เป็นผู้นำกระถินณรงค์เข้ามาปลูกเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2478 กระถินณรงค์เป็นไม้ตระกูลถั่วที่ระบบรากสามารถตรึงไนโตรเจนและช่วยปรับปรุงดิน สามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ในหลายสภาพท้องที่ กระถินณรงค์ที่นำเข้ามารุ่นแรกได้กระจายพันธุ์ไปสู่ท้องที่ต่างๆ ของประเทศไทย มีลักษณะลำต้นคดงอ มีเรือนยอดแผ่กว้างแตกกิ่งก้านมาก และมักแตกกิ่งที่ระดับล่างของลำต้น ทำให้คุณภาพเนื้อไม้ด้อยไปทั้งที่มีความแข็ง และเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อนสวยงาม ตลอดจนมีการยืดหดตัวน้อยมาก แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการก่อสร้าง และทำเฟอร์นิเจอร์ได้ จึงนำไปใช้ประโยชน์เพียงเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับ ให้ร่มเงา ปลูกฟื้นฟูสภาพพื้นที่และปรับปรุงดิน ใช้เป็นไม้เชื้อเพลิง ทำฟืนและถ่านที่ให้พลังความร้อนสูง จากข้อดีและข้อด้อยดังกล่าวไม้กระถินณรงค์จึงเป็นไม้ที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หากมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีรูปทรงที่เปลาตรง และมีการลิดกิ่งตามธรรมชาติได้ดีขึ้น นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กรมป่าไม้ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาพันธุ์ไม้กระถินณรงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเนื้อไม้ จึงได้มีโครงการศึกษาวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ไม้กระณรงค์ขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์กระถินณรงค์จากแหล่งธรรมชาติเพิ่มเติม จากถิ่นกำเนิดในรัฐ Queensland เขต Northern Territory ประเทศออสเตรเลีย และถิ่นกำเนิดจากประเทศ Papua New Guinea จากหน่วยงานวิจัยด้านป่าไม้ของ CSIRO (Commonwealth Science Industry Research Organization) และ ACIAR (Australian Centre for International Agriculture Research) จากผลการศึกษาวิจัยของกรมป่าไม้ได้พบว่า กระถินณรงค์ในประเทศไทยมีการถดถอยทางพันธุกรรม ทำให้มีการเจริญเติบโตและรูปทรงไม่ดี และเมื่อมีการนำเมล็ดพันธุ์จากแหล่งธรรมชาติดังกล่าวมาปลูกวิจัยในประเทศไทยพบว่า มีความแตกต่างระหว่างถิ่นกำเนิด โดยสายพันธุ์กระถินณรงค์จากในรัฐ Queensland มีรูปทรงที่เปลาตรง สายพันธุ์กระถินณรงค์จาก Papua New Guinea มีการเจริญเติบโตเร็วและให้ผลผลิตเนื้อไม้มากกว่าถิ่นกำเนิดอื่น สายพันธุ์จากเขต Northern Territory มีลักษณะที่ทนสภาพแห้งแล้งได้เพราะสามารถปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ปลูกในประเทศไทยได้ดี จากผลการวิจัยดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2537 กรมป่าไม้จึงทำการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างไม้กระถินณรงค์จากถิ่นกำเนิดในรัฐ Queensland เขต Northern Territory ประเทศออสเตรเลีย และถิ่นกำเนิดจากประเทศ Papua New Guinea โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย Northern Territory ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งใช้เวลา 3 ปี จึงประสบผลสำเร็จได้ลูกผสมกระถินณรงค์ และนำมาปลูกรวมพันธุ์พร้อมทั้งทำการทดสอบพันธุ์ ซึ่งพบว่าลูกผสมกระถินณรงค์ระหว่างถิ่นกำเนิดในรัฐ Queensland กับถิ่นกำเนิดจาก Papua New Guinea ให้กระถินณรงค์ลูกผสมพันธุ์ใหม่ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว และมีลำต้นที่เปลาตรง เหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางขึ้น กรมป่าไม้ดำเนินการขยายพันธุ์กระถินณรงค์ลูกผสมพันธุ์ใหม่ โดยวิธีการแบบไม่อาศัยเพศ คือ การปักชำและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกล้าไม้ที่คงลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีของแม่ไม้ไว้ เพื่อนำไปใช้สำหรับการปลูกป่า ที่เรียกว่า Clonal Forestry เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่สนใจนำไปทดลองปลูกในสภาพท้องที่แบบต่าง ซึ่งสถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราชจะได้ติดตามศึกษาวิจัย เพื่อการพัฒนาไม้กระถินณรงค์นี้ให้มีคุณภาพดีขึ้นต่อไปอีก นอกจากไม้กระถินณรงค์สายพันธุ์นี้แล้ว กรมป่าไม้ได้พัฒนาสายพันธุ์ไม้สกุลอะเคเซีย 5 ชนิด และได้เสนอคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งได้ประกาศให้ไม้ในสกุลอะเคเซีย ได้แก่ Acacia auriculiformis A. Cunn. ex Benth., A. mangium Willd., A. aulacocarpa A. Cunn. ex Benth., A. crassicarpa A. Cunn. ex Benth. และลูกผสม เป็นพันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับความคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2552 (ฉบับที่ 10) เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554 กรมป่าไม้ขอเชิญรับกล้ากระถินณรงค์สายพันธ์ใหม่ ที่มีการปรับปรุงสายพันธ์แล้วได้ตั้งเเต่บัดนี้เป็นต้นไป มีจำนวนจำกัดเพียง 50,000 กล้า ติดต่อรับได้ที่สถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช กรมป่าไม้ อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เบอร์โทรศัพท์ 089-491-1314

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ