กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี หารือร่วมกันได้ข้อยุติแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงขั้นตอนการขอประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี พร้อมชี้แจงไม่มีการยกแหล่งแร่โปแตชให้จีน
นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แถลงว่า เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ ๒๕๐ คน ได้เดินทางมาร้องเรียนคัดค้านโครงการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) จังหวัดอุดรธานี ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยเห็นว่า การดำเนินการคำขอประทานบัตร ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องและขอให้ยุติการดำเนินการคำขอประทานบัตรของโครงการดังกล่าว
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงได้ประชุมหารือกับผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เพื่อรับทราบประเด็นการร้องเรียนและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่ประชุมมีความเห็นให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เพื่อตรวจสอบการไต่สวนพื้นที่ในเขตคำขอประทานบัตร และพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการคำขอประทานบัตร โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วน ได้เสียตามกฎหมายว่าด้วยแร่และการพิจารณาให้ความเห็นประกอบคำขอประทานบัตรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวแล้ว โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นประธาน ผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และผู้แทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นกรรมการ ให้มีหน้าที่ในการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้เดินทางกลับจังหวัดอุดรธานีในวันเดียวกัน
นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีปรากฏข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า ในการเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน ๒๕๕๕ ได้มีการยกแหล่งแร่โปแตชให้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง กล่าวคือ ได้มีภาคเอกชนหลายรายได้ยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณที่มีศักยภาพแร่โปแตชสูง ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม หนองคาย และนครราชสีมา โดยมีบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษ จำนวน ๑๒ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ ไร่ ในเขตอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ภาคเอกชนยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ดังกล่าว เป็นพื้นที่เพื่อการสำรวจ ศึกษา วิจัย และทดลองเกี่ยวกับแร่ ตามมาตรา ๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ การเปิดพื้นที่เพื่อให้ภาคเอกชนได้ขออาชญาบัตรหรือประทานบัตรทำเหมืองแร่อยู่ภายใต้การพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่ภาคเอกชนรายใดสนใจยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ในพื้นที่ดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา ซึ่งได้ดำเนินการเช่นเดียวกันสำหรับภาคเอกชนทุกราย
สำหรับเขตพื้นที่ที่บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นคำขอ อาชญาบัตรพิเศษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศให้ขออาชญาบัตรสำรวจแร่ ได้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๔ การเปิดพื้นที่ดังกล่าว มิได้เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของนายกรัฐมนตรี
ในกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดพื้นที่ตามมาตรา ๖ ทวิ ให้มีการสำรวจได้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะดำเนินการรับจดทะเบียนคำขออาชญาบัตรพิเศษ และดำเนินการคำขอตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่อไป มิได้มีการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดแต่อย่างใด