“ศิลปะการครองจีวร การสร้างพระพิมพ์” สะท้อนประติมากรรมเมืองโบราณอู่ทอง

ข่าวท่องเที่ยว Friday May 4, 2012 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--อพท. คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็น “พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง” เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา โดยจะเป็นสำนักงานพื้นที่พิเศษลำดับที่ ๗ (สพพ.๗) ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) มีพื้นที่ ๓๘.๑๖ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ความจริงแล้วพื้นที่แห่งนี้...ถูกทิ้งร้างมายาวนานมากกว่า ๑,๐๐๐ ปี เพิ่งจะมีการสำรวจครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๔๖ เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี และเสด็จสำรวจเมืองโบราณอู่ทอง ทรงนิพนธ์เล่าเรื่องเมืองอู่ทองไว้ใน รายงานเสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี หลังจากนั้นราชบัณฑิตยสภาจึงได้เริ่มสำรวจทำแผนผังเมืองโบราณอู่ทอง และพบว่าเป็นเมืองโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ต่อมากรมศิลปากรได้ขุดค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุ และได้จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองเพื่อนำโบราณวัตถุที่ขุดได้มาเก็บรักษาไว้ จากข้อมูลที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ได้รวบรวมไว้ พบว่า ที่ตั้งของเมืองโบราณอู่ทองเอื้อต่อการรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นผลจากการเดินเรือทางทะเล การวางผังเมืองรูปวงรี และการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีความสัมพันธ์กับคติความเชื่อของอินเดียและยังไม่มีแบบแผนชัดเจนเท่าเมืองในยุคหลัง ๆ ตลอดจนโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบในอำเภออู่ทอง สันนิษฐานได้ว่าเป็นอิทธิพลอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย นอกเหนือไปจากศาสนาพุทธแล้ว เมืองโบราณอู่ทองยังพบร่อยรอยของการนับถือศาสนาพราหมณ์ไปพร้อม ๆ กับศาสนาพุทธ โดยมีการแบ่งแยกพื้นที่ในการก่อสร้างศาสนสถานของแต่ละศาสนาอย่างเป็นสัดส่วน พื้นที่ในเมืองและบริเวณรอบ ๆ เมืองอู่ทองเป็นพื้นที่สำหรับศาสนาพุทธ ขณะที่พื้นที่นอกเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของศาสนาพราหมณ์ ดังเห็นได้จากศาสนสถานที่เรียกว่า “คอกช้างดิน” ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของศาสนาพราหมณ์ ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ หรือกว่า ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณดังกล่าวพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์มากมาย เช่น คอกดินที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเขื่อนเก็บน้ำหรือสระน้ำศักดิ์สิทธิ์โบราณสถานกว่า ๒๐ แห่งที่สร้างด้วยดินและอิฐ ซึ่งอาจเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ มุขลึงค์พร้อมฐานโยนี เหรียญเงินบรรจุในคนโทดินเผาที่ใช้ประกอบพิธีกรรม การสร้างพระพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทยทำด้วยดินเผาในสมัยทวารวดีในยุคเมืองโบราณอู่ทองนี้เอง คติการสร้างพระพิมพ์มีที่มาคือ พระพิมพ์เป็นรูปเคารพขนาดเล็กแทนองค์พระพุทธเจ้า สร้างขึ้นตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา แต่เดิมคงมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อใช้เป็นที่ระลึกในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน หรือสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ทั้ง ๔ ในประเทศอินเดีย ได้แก่ สถานที่ประสูติ (ลุมพินี) ตรัสรู้ (พุทธคยา) ปฐมเทศนา (สารนาถ) และ ปรินิพพาน (กุสินารา) หรือไม่ก็เป็นที่เคารพบูชาแทนพระพุทธเจ้าภายหลังพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ต่อมาจึงได้รับความนิยมในการทำขึ้นเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาตามคติที่ได้รับผ่านจากประเทศลังกา ที่เชื่อว่าพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ในระยะเวลาเพียง ๕,๐๐๐ ปี จากนั้นจะค่อย ๆ เสื่อมลง จึงเป็นเหตุให้มีการสร้างพระพิมพ์พร้อมกับจารึกพระคาถา เย ธมฺมา ด้วยหวังว่ารูปพระพุทธเจ้าและคาถาย่ออันเป็นคำสั่งสอนที่เป็นสาระของพระองค์จะเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใสและเชื่อถือในพระพุทธศาสนาและสืบสานพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป พระพุทธรูปศิลปะทวารวดีมีพุทธลักษณะที่สำคัญ คือ ช่วงแรกราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ ปีที่ผ่านมา พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ยังคงปรากฏอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ (คุปตะเป็นชื่อราชวงศ์ที่มีอำนาจปกครองทางภาคเหนือของประเทศอินเดียและเป็นชื่อรูปแบบทางศิลปะของอินเดียที่ถือว่างดงามมากที่สุด) คือ ไม่มีรัศมีบนพระเกตุมาลา ถ้าครองจีวรห่มเฉียงก็จะไม่มีชายสังฆาฏิอยู่เหนือพระอังสาซ้าย มีทั้งประทับนั่งขัดสมาธิราบอย่างหลวม ๆ แบบศิลปะอมราวดีของอินเดีย หรือประทับยืนด้วยอาการตริภังค์ (เอียงสะโพก) และแสดงปางด้วยพระหัตถ์ขวาเพียงข้างเดียว พระหัตถ์ซ้ายยึดชายจีวรไว้ในพระหัตถ์ จากนั้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ หรือประมาณ ๑,๑๐๐-๑,๓๐๐ ปีที่ผ่านมา พระพุทธรูปศิลปะ ทวารวดีมีลักษณะแบบพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น คือ มีขมวดพระเกศาใหญ่ บางครั้งมีรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูมหรือลูกแก้วอยู่เหนือพระเกตุมาลาหรือพระเมาลี พระพักตร์แบน พระขนงสลักเป็นเส้นนูนโค้งติดต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนา พระพุทธรูปนั่งยังคงประทับนั่งขัดสมาธิหลวม ๆ ตามแบบอมราวดี ถ้าครองจีวรห่มเฉียงมักมีชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือพระอังสาซ้าย พระพุทธรูปรุ่นสุดท้ายของวัฒนธรรมทวารวดีกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปี ได้รับอิทธิพลศิลปะขอมหรือศิลปะลพบุรี เช่น พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีร่องแบ่งกลางระหว่างพระหนุ (คาง) ชายจีวรยาวลงมาถึงพระนาภี ปลายตัดเป็นเส้นตรง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ การครองจีวรของพระพุทธรูปและพระสงฆ์ ประกอบด้วย ผ้า ๓ ชิ้น เรียกว่า “ไตรจีวร” ผ้าทั้งสามนี้เป็นผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผ้าผืนแรกเรียกว่า “สบง” หรือ อันตรวาสกในภาษาสันสกฤต ใช้สำหับนุ่งท่อนล่าง พันรอบตั้งแต่บั้นเอวลงไปถึงข้อเท้า บางครั้งมีรัดประคดหรือเข็มขัดคาด ผ้าชิ้นที่สองเรียกว่า “จีวร” หรืออุตตราสงค์ในภาษาสันสกฤต เป็นผ้าสำหรับห่มคลุมร่างกายท่อนบน ผ้าผืนที่ ๓ เรียกว่า สังฆาฏิ ใช้สำหรับห่มทับเหนือจีวร แต่เดิมนั้นผ้าสังฆาฏิใช้สำหรับห่มคลุมทับจีวรในยามอากาศหนาวเย็น ผ้าสังฆาฏินี้บางครั้งก็ใช้บางครั้งก็ไม่ใช้ โดยการครองจีวรของพระสงฆ์ แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ แบบห่มคลุม ห่มผ้าคลุมปิดไหล่ทั้งสองข้าง และแบบห่มเฉียง ปล่อยให้เห็นไหล่และแขนข้างขวา ในบัญญัติพระวินัยของสงฆ์ กล่าวว่า พระสงฆ์ต้องห่มผ้าคลุมไหล่ทั้งสองข้าง เมื่อเข้าเมืองหรือชุมชน ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสงฆ์ว่า เมื่อออกไปทำกิจธุระข้างนอกให้ครองจีวรห่มคลุม ขณะที่หากปฏิบัติกิจอยู่ภายในวัดให้ครองจีวรห่มเฉียง ถ้าไปธุดงค์หรือจาริกแสวงบุญในป่าเขา พระสงฆ์สามารถครองได้ทั้งจีวรห่มคลุมและจีวรห่มเฉียงตามแต่สะดวก การห่มจีวรที่เก่าที่สุดในประเทศไทย คือ ประติมากรรมแผ่นดินเผาภาพพระภิกษุ ๓ รูป ยืนอุ้มบาตรคลองจีวรคลุม พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ลักษณะห่มจีวร เรียกว่า ครองจีวรห่มคลุมชายจีวรเป็นริ้ว ซึ่งเป็นลักษณะการห่มจีวรแบบอินเดีย ศิลปะอมราวดี มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๙ หรือกว่า ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่างเมืองโบราณอู่ทองกับอินเดียสมัยอมราวดี ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า พระสงฆ์ในเมืองอู่ทองเวลานั้นน่าจะห่มจีวรในลักษณะเดียวกันนี้ สำหรับประติมากรรมรูปวงกลม ลักษณะคล้ายล้อเกวียนประกอบด้วยซี่ล้อและดุมเกวียน ใช้แทนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธนั้น ถือเป็นคติดั้งเดิมของอินเดียก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูป ซึ่งช่างอินเดียในสมัยโบราณไม่กล้าที่จะสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าให้อยู่ในรูปมนุษย์ จึงทำเป็นเพียงสัญลักษณ์แทนรูปพระพุทธองค์ เช่น รูปดอกบัว หมายถึง ปางประสูติ รูปบัลลังก์ภายใต้ต้นโพธิ์ หมายถึง ปางตรัสรู้ รูปธรรมจักร หมายถึง ปางปฐมเทศนาหรือการประกาศพระพุทธศาสนา (การหมุนให้ล้อรถแห่งพระธรรมเคลื่อนที่ไป) รูปสถูป หมายถึง ปางปรินิพพาน รูปกวางหมอบ หมายถึง การแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย สำหรับศิลปะทวารวดีที่พบในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยนั้น มักพบประติมากรรมรูปธรรมจักรลอยตัวคู่กับประติมากรรมรูปกวางหมอบอยู่เสมอ แสดงถึง การทำตามคติเดิมในประเทศอินเดียสมัยโบราณ ซึ่ง ธรรมจักรศิลาพร้อมแท่นและเสาตั้งซึ่งปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่พบสมบูรณ์ที่สุดเพียงชิ้นเดียวในเมืองโบราณอู่ทอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ