กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--ทช.
นายอุดม ปาติยะเสวี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ส่งหนังสือเชิญชวนไปยังประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของอาเซียน รวมทั้งออสเตรเลีย เพื่อขอให้สนับสนุนข้อเสนอของ ทช. ในเรื่องการห้ามการค้าปลาโลมาอิรวดี โดยให้ได้รับการคุ้มครองตามบทต่อท้ายสนธิสัญญาห้ามการค้าสัตว์บกและสัตว์น้ำที่ได้รับการคุ้มครองเนื่องเพราะใกล้จะสูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ซึ่งสาเหตุที่ทาง ทช. ได้เสนอให้ปลาโลมาอิรวดีเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองนั้นก็เพราะ ปลาโลมาชนิดนี้เริ่มลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และกำลังจะสูญพันธุ์ โดยจากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ามีปลาโลมาอิรวดีในถิ่นที่อยู่คือ ทะเลสาบสงขลา เพียง 6 ตัว และแถบลุ่มแม่น้ำโขง 67 ตัว ส่วนเหตุที่ปลาลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วก็เพราะการใช้อวนของชาวประมง ตลอดจนการสูญเสียถิ่นที่อยู่ของปลาจากกระทำของมนุษย์ ซึ่งถิ่นที่อยู่สำคัญของปลาโลมาอิรวดีก็ คือ ทะเลสาบสงขลาทางตอนใต้ของประเทศไทย, ทะเสสาบ Tonle Sap ในประเทศกัมพูชา, บริเวณลุ่มน้ำโขง, บริเวณน้ำตื้นของมหาสมุทรอินเดีย และภาคเหนือของประเทศออสเตรเลีย“สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของปลาโลมาชนิดนี้ก็คือ จะมีการเปิดสถานที่แสดงพันธุ์ปลาในประเทศจีนอีก 83 แห่ง จึงมีการคาดคะเนล่วงหน้าว่าจะมีความต้องการพันธุ์ปลาชนิดนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งปลาโลมาอิรวดีในแถบเอเซียตอนใต้นี้ก็อาจจะถูกจับไปขายเพื่อแสดงพันธุ์ปลาใต้ท้องทะเล ดังนั้น การขึ้นบัญชีปลาโลมาอิรวดีตามบทต่อท้ายสนธิสัญญานั้น ก็จะทำให้ปลาโลมาได้รับการคุ้มครองใน 2 ลักษณะ คือ หากอยู่ในบทต่อท้ายสนธิสัญญาข้อหนึ่ง (Appendix I) จะเป็นการกำหนดให้มีการห้ามค้าโดยเด็ดขาด แต่หากเป็นบทต่อท้ายในสนธิสัญญาข้อที่สอง (Appendix II) จะกำหนดให้ค้าสัตว์นั้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน” นายอุดม กล่าวในที่สุด--จบ--
-นท-