ตลท. สรุปสาระสำคัญของการวางหลักประกันในการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยบัญชีเงินสด

ข่าวทั่วไป Friday May 28, 2004 09:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เพื่อกำกับดูแลความเสี่ยงของสมาชิก และให้ผู้ลงทุนมีการวางแผนการลงทุนดีขึ้น ตลอดจนมีความเชื่อมั่นในฐานะการเงินของสมาชิกและตลาดทุนโดยรวม คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงเห็นควรให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. หลักการ
ก่อนการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด สมาชิกต้องเรียกให้ลูกค้าวางทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักประกันในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ลูกค้าอาจซื้อได้(Buy Limit) โดยจำนวนเงินดังกล่าวต้องไม่เกินวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ที่สมาชิกอนุมัติให้แก่ลูกค้าตามความเหมาะสมกับฐานะการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า(Approved Line)
2. ประเภทและวิธีการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ลูกค้าต้องวางเพื่อเป็นหลักประกันประเภทและวิธีการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ลูกค้าต้องวางเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด ให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าด้วยการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ตโดยอนุโลม โดยขณะนี้ทรัพย์สินดังกล่าว ได้แก่
เงินสด
หลักทรัพย์จดทะเบียน
ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยหรือพันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก
พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือเป็นผู้ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข
ตราสารแห่งหนี้ที่ตัวตราสารนั้นเอง ผู้ออกตราสาร ผู้ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้รับรองโดยเป็นการรับรองตลอดไป ผู้รับอาวัลทั้งจำนวนหรือผู้สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยทั้งจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับบีบีบี (BBB) ขึ้นไปหรือเทียบเท่า
ตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นผู้ออก
บัตรเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก
หนังสือที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้ไว้แก่บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้าโดยธนาคารพาณิชย์นั้นยินยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น ทั้งนี้ไม่ว่าหนังสือนั้นจะออกเป็นเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือหนังสือค้ำประกัน
3. ประเภทลูกค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับฯ ได้แก่
บริษัทหลักทรัพย์ที่มิใช่สมาชิก และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ซึ่งเป็นสมาชิกของสำนักหักบัญชี
ลูกค้าสถาบันต่างประเทศ ซึ่งได้มอบหมายให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินดำเนินการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์แทน และธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นทำหน้าที่เป็น Custodian และเป็นสมาชิกของสำนักหักบัญชี
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว (TTF) หรือบริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด (NVDR)
4. ประเภทลูกค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องวางหลักประกัน ได้แก่
ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของสำนักหักบัญชี และกองทุนส่วนบุคคล
บริษัทที่สมาชิกถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 90 ของทุนชำระแล้วของบริษัท ดังกล่าวเฉพาะการซื้อขายที่สมาชิกนั้นเป็นนายหน้าหรือตัวแทน
บริษัทที่ถือหุ้นในสมาชิกไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 90 ของทุนชำระแล้วของสมาชิกดังกล่าวเฉพาะการซื้อขายที่สมาชิกนั้นเป็นนายหน้าหรือตัวแทน
สถาบันการเงินตามความหมายของพ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (รายละเอียดตามตารางที่แนบ 1)
ผู้ลงทุนสถาบันตามความหมายของประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เรื่อง การยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์(รายละเอียดตามตารางที่แนบ 1)
บริษัทจดทะเบียนที่ไม่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการในหมวด Rehabco ของตลาดหลักทรัพย์
นิติบุคคลอื่นตามที่ตลาดหลักทรัพย์เห็นสมควร
5. การคำนวณวงเงินตามมูลค่าหลักประกันในบัญชีเงินสด (รายละเอียดตามแนบ 2)
สูตรการคำนวณ--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ