กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก
สบช่อง”ครัวไทยสู่โลก” หลังพฤติกรรมผู้บริโภคสหรัฐฯอาจเปลี่ยน เหตุวิตกอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อวัวในประเทศ ที่พบ”เชื้อวัวบ้า เผยเป็นโอกาสดัน “อาหารทะเลไทย” ทดแทนตลาดสหรัฐ-ประเทศอื่น
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ถึงสถานการณ์โอกาสการสนับสนุนนโยบาย”ครัวไทยสู่ครัวโลก”และการผลักดันการเข้าชมงานแสดงสินค้าอาหารไทย(ไทยเฟ็กซ์ 2555) อิมแพ็ค เมืองทองธานีว่า วัวนมของฟาร์มเลี้ยงวันนมแห่งหนึ่งในภาคกลางของรัฐแคลิฟอร์เนียตาย และผลการทดสอบตามนโยบายการควบคุมความปลดภัยของอาหารของกระทรวงเกษตรสหรัฐออกมาว่า พบเชื้อวัวบ้า BSE (Bovine Spongiform Encephalopathy) ประเภท atypical BSE ซึ่งเนื้อของวัวตัวที่พบเชื้อ ไม่ได้เข้าสู่ระบบการผลิตอาหาร แต่เข้าสู่ระบบการผลิตสินค้าอื่น เช่น สบู่ หรือสารเคมีอื่นๆ
“จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มมีพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อวัวและหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อื่นทดแทน เช่น เนื้อไก่ หมูและอาหารทะเล เป็นต้น สำนักงานฯเห็นว่า เป็นโอกาสของอาหารทะเลไทยที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และตลาดอื่นๆ ที่สหรัฐส่งออกสินค้าเนื้อวัว รวมถึงเนื้อวัวเป็นอาหารที่ย่อยยาก จึงเป็นโอกาสของเนื้อสัตว์อื่นทดแทน ซึ่งขณะนี้รมว.พาณิชย์ บุญทรง เตริยาภิรมย์ พยายามที่จะผลักดันโครงการครัวไทยสู่โลก” นางนันทวัลย์ กล่าว
ในปี 2554 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปไปสหรัฐฯกว่า 1,650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (49,722 ล้านบาท) หรือ เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดย 3 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มี.ค.55)สหรัฐฯนำเข้า 268 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 8,306 ล้านบาท) หรือลดลง 14%
ทั้งนี้อุตสาหกรรมการเลี้ยงวัวและการผลิตเนื้อวัวสหรัฐฯในปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีมูลค่าการค้าปลีกประมาณ 79,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการบริโภคภายในรวม 25,600 ล้านปอนด์ โดยสินค้าเนื้อวัวสดและแช่เย็น ส่งออกมายังไทยประมาณ 9 หมื่นกว่ากิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่เนื้อวัวแช่เยือกแข็ง ส่งออกมาไทยประมาณ 8 หมื่นกิโลกรัม หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7 แสนเหรียญสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯส่งออกเนื้อวัวมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเนื้อวัวส่งออกคิดเป็นเพียง 10% ของผลผลิตทั้งหมดของสหรัฐฯ
กรณีวัวบ้าเคยเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2546 ที่รัฐวอชิงตัน ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงวัว การผลิตและการขายเนื้อวัว การจัดส่งเนื้อวัวออกจากโรงงานผลิตลดลงโดยทันที 82% และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของสหรัฐฯงดการนำเข้านานหลายปี ส่งผลต่อการส่งออกเนื้อวัวของสหรัฐมาโดยตลอด ปัจจุบันตลาดส่งออกสำคัญบางตลาด เช่น ญี่ปุ่นยังคงจำกัดการนำเข้า โดยให้นำเข้าได้เฉพาะเนื้อวันอายุน้อยที่วิจัยแล้วพบว่า มีโอกาสติดเชื้อวัวบ้าได้ยาก เหตุการณ์ค้นพบวัวบ้าครั้งนี้ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะยกเลิกการควบคุมการนำเข้าเนื้อวัวสหรัฐฯพอดี
นอกจากนี้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของเกาหลีใต้ 2 ราย เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ต เชนใหญ่เป็นอันดับ 2 และ3 ของเกาหลีใต้ คือ โฮม พลัส และลอตเต้ มาร์ท ประกาศระงับการขายและการสั่งซื้อเนื้อวัวสหรัฐฯ แม้ว่า เชื้อวัวบ้า ประเภท atypical BSE เป็นเชื้อที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เชื้อนี้ไม่ได้มาจากการติดเชื้อโรคที่ปนอยู่ในอาหารสัตว์ แต่เป็นโรคที่มาจากความผิดปกติทางธรรมชาติที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง เชื้อนี้จะไม่ติดต่อทางการสัมผัสระหว่างวัว แต่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่แน่ใจ 100% ว่า เชื้อโรคสายพันธุ์นี้จะถ่ายผ่านจากวัวไปยังมนุษย์ผ่านทางการรับประทานเนื้อวัวได้หรือไม่
ในระหว่างวันที่ 23 -27 พฤษภาคมนี้ กรมส่งเสริมการส่งออกเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าอาหาร (ไทยเฟ็กซ์ 2555) ที่ทูตพาณิชย์ได้พาผู้ซื้อชมงานและนวัตกรรมเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับสินค้าอาหารและธุรกิจบริการอาหารไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่ครัวโลก โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการส่งออกทั้งปีให้ขยายตัว 15% ตามเป้าหมาย