เอาอยู่… เมื่อรู้ธรรมชาติ นักวิชาการชี้รับมือภัยพิบัติ “เอาอยู่” หากเข้าใจธรรมชาติและรู้วิธีปรับตัว

ข่าวทั่วไป Tuesday May 8, 2012 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--สสวท. การเสวนา เรื่อง “เอาอยู่... เมื่อรู้ธรรมชาติ” จากงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 7 จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 หวังสร้างความเข้าใจ 3 ภัยพิบัติหลัก แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม พร้อมแนะคนไทยเรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติอย่างถูกต้อง รศ.ดร. วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้แจงว่าการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเปลือกโลกเกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งในแนวระนาบ และแนวลึก หากแต่เป็นการเคลื่อนตัวอย่างช้า แต่ที่นำไปสู่การเกิดแผ่นดินไหวคือ การเคลื่อนตัวที่เกิดอย่างรวดเร็วฉับพลันซึ่งทำให้เกิดรอยแตกหรือรอยแยกเพื่อปลดปล่อยพลังงาน ปกติการเกิดแผ่นดินไหวไม่สามารถบอกได้ชัดเจนในเชิงวิทยาศาสตร์ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เวลาไหน บอกได้แต่เพียงว่า บริเวณใดที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้ยังยืนยันว่า แผ่นดินไหวระดับรุนแรงถึงขั้นอาคารเสียหาย หรือแผ่นดินยุบตัวจากรอยเลื่อนในประเทศไทยมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากการเคลื่อนตัวที่ไม่เกิน 1 เซนติเมตรต่อปีนั้นหากเกิดขึ้นน่าจะเป็นผลกระทบจากรอยเลื่อนขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า เช่น พม่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดแผ่นดินไหวอย่าวิ่งออกนอกอาคาร แต่ให้หาพื้นที่หลบภัย เช่น โต๊ะที่สามารถมุดตัวลงไปได้ หรือไปอยู่ชิดกับขอบด้านใดด้านหนึ่งของผนัง เนื่องจากการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าโครงสร้างขนาดใหญ่หล่นใส่ เมื่อเหตุการณ์สงบ อย่าเพิ่งรีบร้อน ให้ตรวจดูความปลอดภัยก่อน จึงค่อยออกนอกอาคาร และให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอื่น ๆ ดร. วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล สำนักตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สึนามิเกิดจากการไหลของลาวาแนวดิ่งจนทำให้เกิดการขบกันของเปลือกโลกใต้ทะเล ซึ่งความสูงของคลื่นมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่า ซัดเข้าสู่ฝั่งที่ตื้น-ลึกแค่ไหน ถ้าลึกมากคลื่นก็จะสูงมาก รวมถึงการที่น้ำทะเลสร้างลอนคลื่นให้ใหญ่ขึ้น โดยดึงน้ำจากชายฝั่งเข้าไปใต้ท้องคลื่น ดังปรากฎการณ์น้ำทะเลลดลงอย่างฉับพลันก่อนเกิดคลื่นสึนามิ สำหรับประเทศไทย ยังพออุ่นใจได้ว่า ชายฝั่งส่วนใหญ่นั้นตื้นประมาณ 50 เมตร ทำให้คลื่นมีการแตกตัวเหลือเป็นเพียงกระแสน้ำพุ่งเข้าหาฝั่ง หรือคลื่นยกตัวเล็กน้อยหากเทียบกับประเทศอื่น รวมทั้งขณะนี้ มีการใช้อุปกรณ์เรดาร์ตรวจคลื่น เพื่อตรวจจับสเปคตรัมของคลื่นริมชายฝั่งและความเร็วของกระแสน้ำ ซึ่งหากมีความเร็วมากกว่า 100 กิโลเมตร ให้อยู่ในภาวะเฝ้าระวังการเกิดคลื่นซัดชายฝั่งรุนแรง ซึ่งควรอพยพประชาชนไปอยู่ในที่สูง หรืออยู่ในอาคารหลบภัยที่จัดไว้ เป็นการเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่งนอกเหนือจากการใช้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิซึ่งติดตั้งในทะเลลึก ด้าน รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้มุมมองถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยว่า เกิดขึ้นสองลักษณะจากน้ำท่วมเอ่อล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 11 ครั้งในแต่ละปี การรับมือภัยน้ำอย่างมีประสิทธิภาพต้องเน้นการคิดแบบพลวัตว่า ธรรมชาติมีความซับซ้อนและสัมพันธ์กัน การแก้ปัญหาน้ำจึงต้องเห็นถึงป่า ภูมิกายภาพ และระบบนิเวศวิทยาต่าง ๆ รวมทั้งบริหารจัดการโดยใช้สหวิทยาการที่ไม่ได้อยู่บนหลักวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้หลักทางภูมิสังคม การจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ที่สำคัญที่สุดคือเน้นการแก้ปัญหาแบบทำทันที ณ เวลาจริงที่เกิดขึ้น และอย่าสื่อสารผิดพลาดจนเกินจริงหรือทำให้สังคมตื่นตระหนก ซึ่งเอาอยู่ได้ยากกว่าภัยธรรมชาติเสียอีก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ