กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ไอซีทีร่วมสรอ. เปิดคลาวด์ภาครัฐเวอร์ชันสมบูรณ์ ดึง 30 หน่วยงานรัฐประเดิม ระดมฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เน็ตเวิร์ค ฯลฯ รองรับ มั่นใจระบบง่ายถึงยากเอาอยู่ พร้อมเจรจาสำนักงบประมาณหวังให้หน่วยงานรัฐขอใช้งบไอที ต้องพิจารณาสาธารณูปโภคส่วนกลางก่อน
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ทางกระทรวงไอซีทีร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือสรอ. ได้ร่วมเปิดตัวระบบ Government Cloud Service ในเวอร์ชันสมบูรณ์แบบครั้งแรก ถือเป็นการดำเนินการแบบเต็มตัว ทั้งทางด้านเทคโนโลยี แผนงานการบริการเต็มรูปแบบ การเพิ่มโครงสร้างสาธารณูปโภค งบประมาณ และการเข้าไปร่วมแก้ไขกฎระเบียบทางด้านการจัดซื้อจัดจ้าง กฎหมาย ให้รองรับมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและเพิ่มปริมาณการให้บริการมากยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป จนทำให้ระบบนี้กลายเป็นระบบหลักทางด้านไอทีของประเทศในอนาคตอันใกล้
โครงการนี้ได้เลือกแอพพลิเคชันจาก 30 หน่วยงานในการเข้าร่วม Government Cloud Service เป็นจำนวนที่สมเหตุสมผล ทั้งในเงื่อนของเวลา ความเชี่ยวชาญจากฝ่ายไอทีของสรอ.และฝ่ายไอทีของหน่วยงานนั้นๆ การติดตั้งเพิ่มเติมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบต่างๆ ของระบบคลาวด์ การเลือกดาต้าเซ็นเตอร์รายอื่นๆ เข้ามาเป็นพันธมิตร ทั้งหมดจะนำไปสู่ความพร้อมก่อนที่จะเร่งเครื่องให้บริการมากกว่านี้ได้ในปีต่อๆ ไป
ภาพรวมที่จะได้เห็นในปีนี้ก็คือ จะมีแอพพลิเคชันใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยถูกพัฒนามาก่อนของหน่วยงานรัฐ จะถูกผลักดันขึ้นสู่ระบบคลาวด์ตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะการเขียนแอพพลิเคชันนั้นรองรับอยู่แล้ว ขณะเดียวกันแอพพลิเคชันเดิมที่เคยทำงานอยู่แล้ว จะมีการทยอยนำเข้าสู่ระบบคลาวด์แบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในกรณีต้องใช้เวลา และไม่กระทบกับการปฎิบัติงานเดิม ซึ่งคาดว่าระบบคลาวด์จะยังเป็นแค่ส่วนน้อยอยู่ แต่คาดว่าภายใน 5 ปีแอพพลิเคชันที่ทำงานผ่านระบบคลาวด์ของภาครัฐจะมีมากกว่า 50% และนั่นจะทำให้ลดการลงทุนทางด้านไอทีของภาครัฐไปได้จำนวนมาก
สำหรับเวอร์ชันทดลองเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในครั้งนั้นได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ขึ้นในระบบไอทีราชการไทย มีการติดต่อเพื่อที่จะนำระบบแอพพลิเคชันต่างๆ ของแต่ละหน่วยงานมาเข้าโครงการ แต่เนื่องจากในเวอร์ชันทดลองนั้นทางสรอ.มีความสามารถเปิดรับในเบื้องต้นเพียงแค่ 10 ระบบเท่านั้น ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต., กรมปศุสัตว์, โครงการชัยพัฒนา, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสพธอ., กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมธนารักษ์, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือสสวท., สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISDA, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมการพัฒนาชุมชน
และเมื่อทำการสำรวจการใช้งานจริง ผลสำรวจของสรอ. จาก 9 ใน 10 ของหน่วยงานที่เข้ามาใช้ระบบพบว่า คะแนนรวมความพึงพอใจเท่ากับ 69% แบ่งเป็น 1. ด้านคุณภาพบริการ คะแนนเฉลี่ย 78% ประเด็นที่ได้คะแนนสูงที่สุด คือ ความสะดวกรวดเร็วในการใช้งานบริการ 89% 2. การใช้งานบริการ Government Cloud คะแนนเฉลี่ย 73% ประเด็นที่ได้คะแนนสูงที่สุด คือ ความสะดวกในการใช้งานผ่านหน้าเว็บไซต์สำหรับจัดการ 78% และ ความสามารถดูแลและตรวจสอบการใช้งานของผู้ใช้บริการเว็บไซต์สำหรับจัดการ 78%
จากการสำรวจทั้งหมด ส่วนใหญ่ไม่เคยใช้บริการคลาวด์กับผู้ให้บริการรายอื่นมาก่อน มีเพียงรายเดียวที่เคยใช้บริการของ AMAZON EC2 โดยรายนี้ให้คะแนนสรอ. เท่ากับ 3 คะแนน และ AMAZON เท่ากับ 5 คะแนน ซึ่งทำให้เห็นว่าภาครัฐเองยังไม่มีความคุ้นเคยกับการใช้คลาวด์มาก่อน ดังนั้นจึงมีถึง 5 หน่วยงานที่ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้บริการ Government Cloud Service ต่อไปหรือไม่ ส่วนหน่วยงานที่จะนำระบบขึ้นใช้บริการต่อไปจำนวน 4 หน่วยงานได้แก่ กรมธนารักษ์, สำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้ ICT, กรมป้องกันและบรรเทาฯ, สวทช. โดยหน่วยงานที่สนใจยังต้องการได้รับการสนับสนุนหลายด้านเกี่ยวกับการบริการคลาวด์ เช่น ความรู้ด้านรายละเอียดเกี่ยวกับการบริการทั้งหมดของคลาวด์ และการสนับสนุนด้านความช่วยเหลือในการถ่ายโอนข้อมูลและโอนย้ายระบบขึ้นใช้บริการคลาวด์
สรุปภาพรวมที่จะเห็นได้ในปีนี้ก็คือ ระบบ GIN เข้าสู่เวอร์ชัน 2.0, ระบบ Government Cloud Service ที่เริ่มใช้งานจริง, เกิดระบบ Smart Province รุ่นแรกๆ มีระบบ Application Market Place รองรับทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และอื่นๆ เพื่อเป็นที่รองรับการพัฒนาแอพพลิเคชันและ Content ของประเทศ โดยมีระบบโทรคมนาคมที่ทันสมัยที่จะเริ่มมีการประมูลในปลายปีนี้มารองรับ จะทำให้ภาพไอทีของประเทศมีความเด่นชัดมากขึ้น และจะนำไปสู่การก้าวกระโดดในไม่ช้า
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. เปิดเผยว่า จากการที่สรอ.ได้ดำเนินการระบบ Government Cloud Service ในชั้นทดลอง และได้ข้อมูลความต้องการ และได้ประเมินระบบทั้งหมดออกมา เมื่อเข้าสู่ระบบจริงตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางสรอ.ได้พัฒนาระบบคลาวด์ขึ้นมาให้เทียบกับมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยได้เสริมตั้งแต่ระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เน็ตเวิร์ค ระบบรักษาความปลอดภัย และอื่นๆ เข้ามาอย่างมาก
ในส่วนของฮาร์ดแวร์นั้นมีการเพิ่มเติมเข้ามาอย่างมาก ตั้งแต่ระบบสภาพแวดล้อมใหม่ จากเดิมจะเน้นใช้ระบบภายในของสรอ.เอง ขณะนี้ได้กระจายเข้าใช้ใน IDC หรือศูนย์อินเทอร์เน็ตแหล่งต่างๆ ในประเทศมากขึ้น ดังนั้นฮาร์ดแวร์ที่ใส่ไปยังศูนย์เหล่านี้สรอ.ได้เพิ่มประสิทธิภาพ และมีความทันสมัย โดยในขั้นต้นมีการเพิ่มทั้งความเร็ว และความจุของระบบมากกว่า 2 เท่า
นอกจากนั้นแล้วทางสรอ.ยังได้วางสถาปัตยกรรมให้การเพิ่มความจุของฮาร์ดดิสก์ หรือความสามารถในการทำงานของระบบเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้ได้ตลอดเวลา ซึ่งในชั้นนี้สรอ.ยังให้บริการเพียงแค่ IaaS หรือ Infrastructure as a Service หรือการทำให้หน่วยงายรัฐสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลากับแอพพลิเคชันของตนเอง แต่ยังไม่ถึงขั้น SaaS หรือ Software as a Service ซึ่งเป็นมาตรฐานของระบบ Cloud Service ทั่วไป เนื่องจากทางสรอ.ยังไม่ได้ทำความตกลงกับหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วม โดยทั้งหมดต้องกำหนดมาตรฐานร่วมกัน ซึ่งคาดว่าเมื่อหน่วยงานรัฐมีความคุ้นเคยกับระบบ IaaS แล้วภายในปีนี้ ในปีหน้าสรอ.จะสามารถเริ่มต้นเข้าสู่ระบบ SaaS ได้
สำหรับแผนดำเนินการของ Government Cloud Service ในรุ่นนี้ทางสรอ.จะรับระบบของหน่วยงานเข้ามาดูแลประมาณ 30 ระบบ โดยเฉลี่ยจะมีเซิร์ฟเวอร์รองรับในแต่ละระบบประมาณ 3 เครื่อง ตามแผนที่วางไว้จะมีการขึ้นเซิร์ฟเวอร์ในแต่ละเดือนประมาณ 20 เครื่อง หรืออย่างน้อย 5 หน่วยงาน ซึ่งจะทำให้เครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ขึ้นกับระบบในปีนี้จะมีสูงถึง 80-100 เครื่องเลยทีเดียว
ปัจจุบันมีหน่วยงานที่แจ้งจะเข้าร่วมแล้วเกินกว่า 30 หน่วยงาน มากกว่าที่ทางสรอ.กำหนดเอาไว้ ดังนั้นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกช่วงนี้จะเน้นรายที่นำเสนอเข้ามาก่อน และจะมีการพิจารณาถึงความพร้อมในการนำระบบขึ้นสู่อินเทอร์เน็ตของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งในขณะนี้การพิจารณาและการนำระบบขึ้นทั้งหมดเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ ส่วนรายที่พลาดจากปีงบประมาณนี้ ทางสรอ.ก็พร้อมจะให้คำปรึกษาในการเตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาระบบให้สามารถขึ้นสู่คลาวด์ได้ในปีงบประมาณต่อๆ ไป
ส่วนระบบคลาวด์ในเวอร์ชันใหม่ของสรอ.ในครั้งนี้ มีตั้งแต่การมอบหมายให้ระบบคลาวด์ทำงานเป็น Backup Site หรือเป็นระบบสำรองของหน่วยงานทั้งหมด, การเป็น Web Hosting หรือการเป็นเซิร์ฟเวอร์หลักของเว็บไซต์หน่วยงานนั้นๆ, การสร้างระบบเฉพาะกิจเร่งด่วน ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ยังไม่เคยติดตั้งในหน่วยงานนั้นมาก่อน, การตั้งให้ระบบคลาวด์เป็นฐานข้อมูลหลักและสำรองของหน่วยงาน และสุดท้ายคือเป็นแอพพลิเคชันบนเว็บให้กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งระบบทั้งหมดมีทั้งความยาก ที่ซับซ้อนอย่างมาก เช่น การเป็น Backup Site ไปจนถึงระบบที่ง่ายๆ อย่างการเป็น Web Hosting ซึ่งการได้ดูแลทั้งหมดเช่นนี้จะทำให้สรอ.เกิดประสบการณ์และสามารถดูแลระบบทุกอย่างได้ดีในอนาคต
อย่างไรก็ตามแนวโน้มการใช้งานคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐในช่วงนี้ จะเน้นการนำระบบใหม่ที่ไม่เคยใช้งานในระบบเซิร์ฟเวอร์เดิมมาก่อน เพราะตัดสินใจง่ายและไม่ยุ่งยากในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้งาย และไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณในการเปลี่ยนระบบเดิมมาสู่ระบบใหม่ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานภาครัฐต่างๆ ก็จะค่อยๆ นำระบบเดิมย้ายเข้ามาสู่ระบบคลาวด์ในอนาคตอันใกล้
นอกจากแรงจูงใจในการเข้ามาใช้ระบบคลาวด์ที่ไม่คิดมูลค่าแล้ว ทางสรอ.จะเร่งหารือกับทางสำนักงบประมาณในการผลักดันให้การของบประมาณด้านไอทีของหน่วยงานต่างๆ ต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีคลาวด์ และมองในภาพกว้างที่จะลดความซ้ำซ้อนของการลงทุนในระบบไอทีภาครัฐ โดยต้องหันมาใช้ทรัพยากรส่วนกลางมากขึ้น
สำหรับงบประมาณของโครงการ Government Cloud Service ในเวอร์ชันนี้ทางสรอ.มีงบดำเนินการ 50 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นเพิ่มเติมระบบสาธารณูปโภคทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ระบบเครือข่าย ระบบรักษาความปลอดภัย การสำรองระบบ และอื่นๆ ซึ่งในปีงบประมาณหน้าสรอ.ก็จะพัฒนาระบบเข้าสู่ระบบ SaaS ที่พร้อมจะให้หน่วยงานรัฐสามารถนำระบบของตนเองไปให้บริการกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่สนใจนำไปใช้ได้ โดยอาจมีการคิดค่าบริการตามข้อตกลง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณไปได้อย่างมากในอนาคต
ส่วนรายละเอียดของ 30 หน่วยงานเบื้องต้นที่ต้องการเข้าสู่ระบบ Government Cloud Service ของสรอ.ได้แก่ 1. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนำ โครงการระบบฐานข้อมูลการรักษาพยาบาลของคนไข้ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ และโครงการพัฒนาระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์สุขภาพ มาเข้าร่วม 2. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่สร้างระบบแอพพลิเคชันเซิร์ฟเวอร์ รองรับระบบรายงานอุบัติเหตุทางถนนรายเดือน, ระบบเยียวยาผู้ประภัยน้ำท่วม (5,000 บาท) และระบบจัดการฐานข้อมูลสาธารณภัย รวมถึงการสร้างระบบDatabase Server หรือการทำระบบฐานข้อมูลผ่านทางออนไลน์ทั้งระบบ 3. กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี จะนำระบบเผยแพร่รายการข่าวและข้อมูลประชาสัมพันธ์ วิทยุกระจายเสียง และระบบประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์ เข้าสู่ระบบคลาวด์ 4. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ NSTDA กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งหมด 5 ศูนย์ คือNSTDA,BIOTEC,NANOTEC,NECTEC,MTEC จะมีการนำระบบเว็บเซิร์ฟเวอร์, อินทราเน็ต, ระบบอีเมล์ และระบบ Shared Storage หรือการร่วมกันใช้สตรอเรจมาเข้าร่วม 5. สำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทส.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะนำระบบเว็บเซิร์ฟเวอร์, ระบบข้อมูลแผนที่ และระบบฐานข้อมูลเข้าร่วม นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งระบบแต่ยังไม่มีการตั้งชื่อโครงการที่จะเข้าร่วมด้วย 6. สำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทส.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 7. โรงพยาบาลรามา จะมีโครงการศูนย์รังสีวินิฉัยก้าวหน้าและรังสีร่วมรักษา ได้นำระบบ Thaivisa และระบบ EMR มาเข้าร่วม 8. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) จะนำระบบแผนที่มาให้บริการผ่านเว็บไซต์ 9. สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (NIMT) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำระบบเว็บเซิร์ฟเวอร์ และอินทราเน็ตมาเข้าร่วม 10. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ETDA) 11. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) 12. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (SOC) 13. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต) 14. กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง 15. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) 16. สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา 17. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 18. NIDA 19. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 20. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สป.สช. กระทรวงสาธารณะสุข 21. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 22. กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนำระบบบริการการนำเข้า- ส่งออก มาเข้าร่วม 23. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. ที่นำระบบเว็บไซต์ของ กพร.และระบบติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองฯ (e-Sar) เข้าร่วม 24. กรมส่งเสริมอุตสากรรม กระทรวงอุตสาหกรรม 25. วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ 26. สำนักงานปลัด กระทรวงคมนาคม 27. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (SOC) ซึ่งนำโครงการรับจำนำข้าว, ระบบกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เข้าร่วม 28. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำระบบเยียวยาฯ และระบบเยี่ยมเยือน มาพัฒนาบนคลาวด์ 29. ศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม ที่จะนำระบบสืบค้นคำพิพากษา มาเข้าร่วม 30. ศูนย์ IT กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่นำระบบ ICT Care เข้าร่วม
นายชนรรค์ พุทธมิลินประทีป ที่ปรึกษา สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ทางสำนักงบประมาณได้หารือกับสรอ. และมีข้อตกลงร่วมกันว่าในปีงบประมาณ 2556 สำนักงบประมาณจะสนับสนุนและผลักดันระบบงานสำคัญๆ ของรัฐมาใช้โครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศที่สรอ. เตรียมการไว้ ไม่ว่าจะเป็น GIN หรือ บริการคลาวด์ของภาครัฐ หลังจากนั้นในปีงบประมาณ 2557 สำนักงบประมาณจะศึกษาแนวทางและกระบวนการของงบประมาณ ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถมาใช้งานโครงสร้างพื้นฐานกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณของรัฐได้
ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่กำลังจะยื่นของบประมาณทางด้านไอทีในช่วงเวลาอันใกล้นี้ จำเป็นต้องศึกษาสาธารณูปโภคส่วนกลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ และมีให้บริการอยู่แล้ว โดยเฉพาะส่วนที่สรอ.ดำเนินการอยู่ และเขียนแผนงบประมาณในส่วนของไอทีให้สอดคล้องและตรงกับงบประมาณที่ทางสรอ.ได้จัดหามา ซึ่งคาดว่าจะทำให้หน่วยงานต่างๆ วางแผนการทำงานผ่านระบบไอทีได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ใช้งบประมาณน้อยลง แต่หากหน่วยงานรัฐยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานที่จะเข้ามาใช้ระบบไอทีส่วนกลางแล้ว อาจทำให้การได้รับงบประมาณในส่วนนี้ลดน้อยลง จนถึงอาจถูกตัดออกจากแผนงบประมาณได้
นอกจากนั้นทางสำนักงบประมาณเตรียมที่จะนำระบบงบประมาณผ่านระบบคลาวด์มาใช้ในระยะเวลาอันใกล้ จะทำให้ทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้ โดยผ่านเครือข่ายอินทราเน็ตของ GIN และจะทำให้ GIN กลายเป็นโครงสร้างสาธารณูปโภคหลักทางด้านไอทีที่แต่ละหน่วยงานที่จะนำเสนองบประมาณจำเป็นต้องใช้
นายอาวุธ วรรณวงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. เปิดเผยว่า ระบบหลักที่กพร.นำมาติดตั้งใน Government Cloud Service ของสรอ. คือระบบติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองฯ (e-Sar) ซึ่งหน่วยงานราชการทุกหน่วยจำเป็นต้องใช้ โดยเกี่ยวข้องกับการปรับตำแหน่งและโครงสร้างบุคลากรทั้งของหน่วยงานนั้น และการวิเคราะห์ภาพรวมของทั้งโครงสร้างราชการ ดังนั้นการที่กพร. นำระบบนี้ขึ้นมาให้บริการนอกจากจะทำให้หน่วยงานรัฐต่างๆ มีความคุ้นเคยกับเว็บแอพพลิเคชันแล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้แต่ละหน่วยในการนำระบบของตนเองขึ้นมาไว้บนระบบคลาวด์อีกด้วย
นายฐานิต ศรียะพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า เนื่องจากปัญหาในภาคใต้มีความอ่อนไหวอย่างมาก และต้องการข้อมูลแบบปัจจุบันทันที โดยที่จำเป็นต้องเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานเข้าหากันแบบมีเอกภาพ ซึ่งศอ.บต.ได้นำสองโครงการนำร่องคือ ระบบเยียวยา ผู้ประสบปัญหา ซึ่งต้องการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลหลักของศอ.บต. กับการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการช่วยเหลือให้ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับระบบที่ 2 ที่ศอ.บต.นำเข้ามาด้วยคือ ระบบเยี่ยมเยือน ที่แต่ละหน่วยงานที่ลงพื้นที่จะต้องลงบันทึก และให้ข้อสังเกตต่างๆ ทำให้ทุกหน่วยงานได้ข้อมูลทางด้านการข่าวเท่าเทียมกัน ในเวลาปัจจุบันทันที ส่งผลให้การวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อการทำงานต่อทำได้ง่ายขึ้น คาดว่าในอนาคต ศอ.บต. อาจจะนำระบบแอพพลิเคชันที่เกี่ยวข้องมาทำงานผ่านระบบคลาวด์มากขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:
ส่วนส่งเสริมการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
นายธรรณพ ศิริธรรมวิไล
โทรศัพท์ 0-2612-6000 ต่อ 6203
อีเมล์ thannop.sirithamwilai@ega.or.th