กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย
ต.ส.ล. ได้ฤกษ์ 28 พฤษภาคม เปิดตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นำร่อง"ยางแผ่นรมควันชั้น 3" เคาะกระดานซื้อ-ขาย ผ่านระบบออนไลน์พร้อมกำหนดส่งมอบทุกเดือน เตรียมผลักดันตลาดซื้อขายล่วงหน้าสู่ตลาดฯชั้นนำของเอเชีย ส่วนข้าวขาว 5% มันสำปะหลังและกุ้งเตรียมจ่อคิวเข้าสู่ตลาด
นายพันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์ กรรมการและผู้จัดการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(ด.ส.ล.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 นี้จะมีการเปิดตลาดล่วงหน้าแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยในวันดังกล่าวจะเปิดให้มีการซื้อ-ขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ครั้งแรกของประเทศไทย
โดยสินค้าที่จะให้มีการซื้อขายชนิดแรกคือยางแผ่นรมควันชั้น 3 กำหนดหน่วยการซื้อขาย 1หน่วยเท่ากับ 5,000 กิโลกรัมหรือ 5 ตัน ช่วงราคา (Tick Size) หรืออัตราขึ้นลงของราคาเท่ากับ 0.10 บาท/กิโลกรัมหรือ 500 บาท ต่อหน่วยการซื้อขาย พร้อมกำหนดอัตราขึ้นลงของราคาสูงสุดประจำวันอยู่ที่ 3 บาท/กิโลกรัมหรือ 15,000 บาท/สัญญา และกำหนดส่งมอบทุกเดือนแต่มีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนตามเงื่อนไข FOB ณ ท่าเรือกรุงเทพฯ และจะเปิดตลาดซื้อ-ขายในช่วงเวลา 10.30-12.00 น. ของทุกวันทำการยกเว้นหยุดธนาคาร
ส่วนสินค้าเป้าหมายอีก 3 ชนิดคือ ข้าวขาว 5% กุ้งและมันสำปะหลังนั้น ขณะนี้ได้ยกร่างสัญญาซื้อขายเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับตลาดล่วงหน้าของประเทศอื่นๆ ก็จะพบว่าสินค้าเป้าหมายที่วางไว้ 4 ชนิด ถือว่ามีจำนวนไม่น้อยเทียบกับตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นตลาดล่วงหน้าที่ใหญ่สุดของจีนและมีอายุประมาณ 4 ปีแล้ว ก็มีสินค้าในตลาดเพียง 3 ชนิดเท่านั้นคือ ทองแดง อลูมิเนียมและยางพารา
นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตและผู้ค้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 รายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ผ่านมามีตลาดล่วงหน้าที่ซื้อยางพารา ได้แก่ ตลาดล่วงหน้าโตเกียวและสิงคโปร์ ซึ่งใช้ราคายางพาราของไทยอ้างอิงในการซื้อขายล่วงหน้า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างกลไกในการป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ผลิต ผู้ค้ายางของไทย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตลาดล่วงหน้ายังถือว่าเป็นช่องทางใหม่สำหรับนักลงทุนและนักเก็งกำไรด้วย
สำหรับระบบการซื้อขายนั้นเป็นการซื้อขายด้วยวิธีการประมูลราคาโดยเปิดเผย โดยใช้ระบบการจับคู่ซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์ ผู้ที่จะเข้ามาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดจะต้องส่งคำซื้อขายผ่านสมาชิกตลาดประเภทนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า(โปรกเกอร์) ส่วนการรายงานผลการซื้อขายทางตลาดฯจเปิดเผยข้อมูลและราคาในการซื้อขายผ่านสื่อหลายช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ตลาดและสื่อสาธารณะ คือสถานีโทรทัศน์ชั้นนำ หนังสือพิมพ์ อีกทั้งยังเผยแพร่ทั่วโลกผ่านทางผู้ให้บริการข้อมูล(Data Vendors) ทั้งนี้ตลาดได้กำหนดให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เป็น Settlement Bank ในการหักบัญชีธุรกรรมด้านการซื้อขายล่วงหน้า และจะมีการจำกัดเพดานการถือครองสินค้าและจำกัดการขึ้นลงของราคาตามข้อกำหนดการซื้อขายภายใต้หลักเกณฑ์สากลอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันในด้านความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันตลาดฯมีสมาชิกทั้งหมด 18 ราย แบ่งเป็นสมาชิกตลาดประเภทนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า 17 รายและผู้ค้าล่วงหน้า 1 ราย ซึ่งการเปิดตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศเป็นอย่างมาก ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก
"เราจะผลักดันตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้เป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้าชั้นนำของเอเชีย และพยายามผลักดันตลาดฯ ให้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุนที่มีประสิทธิภาพของตลาดทุนของประเทศ ที่สำคัญคือจะทำให้เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการไม่ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงด้านราคาหรือประสบปัญหาเสถียรภาพด้านราคาอีกต่อไป"นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว
สอบถามข้อมูลได้ที่...
คุณ ณ มาดา แสงนิ่มนวล
โทร.0 2263-9827,0 1684-5420
e-mail : afet@afet.or.th, namada@afet.or.th--จบ--
-ชพ/นท-