เก็บมาฝากสมาชิก กบข.

ข่าวทั่วไป Monday May 31, 2004 10:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กบข.
อย่าอยู่อย่างอยาก (1)
ตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาท่องหนังสือเพื่อจำให้ขึ้นใจว่า คำหนึ่งที่ถูกสอนให้จำเพื่อให้เขียนถูกคือ "อย่าอยู่อย่างอยาก" คิดไปคิดมา นอกจากจะได้คำที่สะกดถูกแล้ว กลับได้ความหมายดี ๆ ที่ซ่อนอยู่ด้วยว่า การจะมีชีวิตที่มีความสุขได้ทั้งร่างกายและจิตใจคือการไม่อยู่อย่างอยาก ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่ไม่ให้คนเราไม่ต้องมีเป้าหมายการดำเนินชีวิตเลยและมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ ไม่ต้องมีความต้องการอะไร ไม่ต้องอยากได้อะไร เพียงแต่ ถ้าเราอยากเราก็ควร "ลงมือทำ" เพื่อให้บรรลุความต้องการนั้น ๆ ทั้งนี้ควรจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องและไม่ผิดศีลธรรมอันดีงามอีกด้วย
วันนี้ เรามาดูว่า เมื่อเรารู้ว่าเรามีเป้าหมายในการมีชีวิตอยู่หลังเกษียณอายุ หากเราไม่ต้องการอยู่อย่างรันทด และ ไม่ต้องการพึ่งพาลูกหลานมากนัก รวมถึงมีเงินเลี้ยงตัวเองอย่างเหมาะสม เราก็ต้องมาศึกษาว่าจะมีวิธีการที่จะประมาณการความต้องการเงินเพื่อการเลี้ยงชีพหลังเกษียณมากน้อยเพียงใด
วิธีแรก เป็นวิธีที่วางแผนแบบช่วงระยะเวลาสั้นๆ (short time frame) วิธีนี้เราต้องระบุ รายได้เมื่อเกษียณว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ในปัจจุบัน เช่น เราลองประมาณการว่า ชีวิตหลังเกษียณเราจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อ จะต้องมีรายได้ 80% ของเงินเดือน ๆ สุดท้ายที่ได้รับ เช่น เคยได้เงินเดือน 10,000 บาท หลังเกษียณก็ต้องการ 8,000 บาท ดังนั้น เราก็พอมองได้ว่า เราคาดว่าชีวิตเรายืนยาวไปอีกกี่ปีหลังเกษียณ ก็เอาจำนวนเดือน / ปี คำนวนดู ก็จะสามารถระบุจำนวนเงินที่เราต้องการยามเกษียณได้ และทางที่ดีควรติดตามภาวะเศรษฐกิจอยู่เสมอ และปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสมทุกๆ 3 - 5 ปี ด้วย
นอกจากนี้ คำว่า "อย่าอยู่อย่างอยาก" จะเข้ามาช่วยได้อย่างมากโดยเอามาประกอบกับ "แนวทางการใช้ชีวิต" (life style) ของเราด้วย เมื่อเรารู้ประมาณการได้ว่า ต้องการมีรายได้เท่านั้นเท่านี้บาทต่อเดือน คราวนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับแนวทางการใช้ชีวิตของเราเองตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้าเราต้องการมีเงิน เราก็ต้องออมในวันนี้ ไม่ใช่อยากไปเรื่อย ๆ แต่ไม่เคยลงมือทำ เหมือนคนที่พูดไปเรื่อย ๆ แต่ไม่เคยแปลงคำพูดมาเป็นการปฏิบัติได้ ก็เท่ากับคำพูดนั้นไม่มีความหมายเพราะการพูด หรือการตั้งเป้าหมายใคร ๆ ก็ทำได้ แต่การลงมือทำให้เกิดผลนี่สิเป็นเรื่องที่หาคนทำได้ยาก
ถ้าต้องการรายได้ตอนเกษียณ 70-80% ของรายได้ปัจจุบันอาจแสดงได้ว่า แนวทางการใช้ชีวิตของเรามีความต้องการและใช้ชีวิตความเป็นอยู่หลังเกษียณใกล้เคียงปกติธรรมดา อาจจะเป็นเพียงเงินที่นำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ หากเป็นข้าราชการก็ส่งเงินเข้า กบข. บวกกับเงินออมส่วนตัวอีกนิดหน่อยก็น่าจะเพียงพอ แต่ถ้าวันนี้เราอายุ 40 ปี เราก็คงจะต้องเร่งให้เงินออมต่อเดือนสูงมาก ๆ พอที่จะครอบคลุมจำนวนเงินที่เราอยากใช้ในหลังเกษียณ อาจต้องออมถึง40 % ของเงินรายได้ต่อเดือนในปัจจุบันเลยทีเดียว
แต่ถ้าเราต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณ 90%-100%ของรายได้ปัจจุบัน แสดงว่า เราวางแผนที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณเหมือนกับชีวิตปัจจุบันที่คุ้นเคยอยู่ หากต้องการเท่านี้ก็ต้องสะสมเงินเพื่อการเกษียณให้นานกว่า 20 ปี หรือเริ่มต้นออมตั้งแต่เริ่มต้นทำงานเพื่อให้มีเงินเพียงพอที่จะทำให้ชีวิตเราคงที่ ไม่ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้ชีวิตมากนัก แต่หากเราบอกว่าเราทำงานหนักมาตลอดและมีรายได้ดีพอสมควร และหลังจากเลิกทำงานแล้ว เราควรมีเงินไว้ใช้จ่าย 120 —125% ของรายได้ปัจจุบัน แสดงว่าเราวางแผนที่จะมีชีวิตที่สุขสบายมากๆหลังเกษียณ และทำในสิ่งที่อยากจะทำแต่ไม่ได้ทำในเวลาที่ต้องทำงานหนัก ๆ เช่น ท่องเที่ยว ตกแต่งบ้านใหม่ หรืออะไรก็ตาม ควรออมจำนวนมากกว่าปกติอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งนำเงินออมไปทำการลงทุนอย่างชาญฉลาดเพื่อให้เงินออมของเราทวีค่าอยู่อย่างต่อเนื่องทันต่ออัตราเงินเฟ้อและได้ดอกผลภายใต้ความเสี่ยงที่เรายอมรับได้
ทั้งหมดนี้ "ความพอดี" เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะไม่ใช่อยากมีชีวิตภายหลังเกษียณอย่างสุขสบายมีเงินทองใช้เหลือเฟือซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต แต่กลับต้องมาทุกข์ในวันนี้เพราะไม่ยอมใช้จ่ายเลย เป้าหมายที่เราตั้งไว้ก็อาจไม่บรรลุ เพราะอาจทุกข์กาย ทุกข์ใจ จนถึงขั้นเจ็บป่วย หรือ เสียชีวิตไปเสียก่อน
อย่างว่า ควรเอาใจช่วยตัวเองให้มีความสุขกับความพอดีในวันนี้และวันหน้าเสมอ โดยไม่ละทิ้งหลักการที่เราอุตส่าห์เรียนรู้มาเพื่อไม่ให้เราต้องเป็นทาสของความอยากและ"อยู่อย่างอยาก" ไปจนตาย--จบ--
-นท-

แท็ก กบข.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ