กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--เอแบคโพลล์
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเมินความพอใจของประชาชนต่อคณะรัฐมนตรีในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา และการปรับคณะรัฐมนตรีในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,259 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 เมษายน — 4 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7
ผลการประเมินความพอใจของสาธารณชนต่อคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีเพียง 4 ท่านที่ผลสำรวจพบว่าได้รับการสนับสนุนเกินกว่าร้อยละ 50 ที่เหลือได้ไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ตอบแบบสอบถามครั้งนี้ สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่ชาวบ้านส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 บอกว่ามันเป็นเรื่องจริงไม่ใช่แค่ความรู้สึกหรือกระแสเท่านั้น ส่งผลทำให้รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงพาณิชย์และที่เกี่ยวข้องได้รับเสียงความพอใจของสาธารณชนไม่ถึงครึ่งในการสำรวจครั้งนี้ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างให้โอกาส สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และนายจตุพร เข้าเป็นรัฐมนตรีถ้ามีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่นี้
เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจของรัฐมนตรีรายบุคคล พบว่านายกรัฐมนตรีมีคะแนนมาเป็นอันดับแรก จำนวนร้อยละ 64.8 ที่น่าสังเกตคือ รัฐมนตรีที่ประชาชนพึงพอใจเป็นอันดับท้ายๆ พบว่า รมว. กระทรวงพาณิชย์ และ รมช. กระทรวงพาณิชย์นั้นติดอับดับหนึ่งในสิบของรัฐมนตรีที่ประชาชนมีความพึงพอใจน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงรายชื่อคณะรัฐมนตรีรายบุคคล พบว่ายังคงมีรัฐมนตรีอีกหลายท่านที่ไม่เป็นที่รู้จักในการรับรู้ของประชาชน ซึ่งห้าอันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 38.1 ระบุนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช. กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 38.0 ระบุนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.กระทรวงการคลัง ร้อยละ 37.1 ระบุนายอารักษ์ ชลธารนนท์ รมว. กระทรวงพลังงาน ร้อยละ 36.3 ระบุนายภูมิ สาระผล รมช. กระทรวงพาณิชย์ และร้อยละ 35.7 นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมตรี เป็นต้น
สิ่งที่น่าพิจารณาคือ ค่าคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจของสาธารณชนต่อการทำหน้าที่ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะรัฐมนตรีนั้นมีเพียงแค่ 6.24 คะแนน เมื่อสอบถามต่อไปว่าราคาสินค้าที่แพงอยู่ในขณะนี้ ประชาชนคิดว่าเป็นเรื่องจริงหรือเพียงแค่ความรู้สึก พบว่าประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 90.1 ระบุว่าเป็นเรื่องจริง มีเพียงแค่ร้อยละ 9.9 คิดว่าชาวบ้านรู้สึกไปเอง
อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างกว่าหนึ่งในสามหรือร้อยละ 38.2 ยังคงเห็นด้วยที่จะให้สมาชิกบ้านเลขที่ 111 กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ส่วนร้อยละ 36.9 ระบุไม่เห็นด้วย และร้อยละ 24.9 ไม่มีความคิดเห็น นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 49.7 ยังคงให้โอกาสนายจตุพร พรหมพันธุ์ เข้าเป็นรัฐมนตรี สิ่งที่น่าพิจารณาคือ ยังมีจำนวนตัวอย่างอีกไม่น้อยหรือร้อยละ 67.4 คิดว่าควรปรับคณะรัฐมนตรี และร้อยละ 32.6 คิดว่ายังไม่ควรปรับ
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.7 เป็นชาย ร้อยละ 50.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.2 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 25.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 25.3 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 20.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 86.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 12.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.1 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 41.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.8 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 6.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 4.7 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.9 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.7 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ