กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
ฟิทช์ บริษัทจัดอันดับเครดิตข้ามชาติประกาศเพิ่มอันดับเครดิตแก่ธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศไทยสามแห่งและเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดเป็นบวก โดยการเพิ่มอันดับเครดิตและเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นผลมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของภาคธุรกิจธนาคารที่มีการฟื้นตัวจากการที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ และการเพิ่มขึ้นของการให้กู้ยืมในภาคธุรกิจและภาคผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการปรับตัวที่ดีขึ้นของผลประกอบการของธนาคารไทย ซึ่งได้แก่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ยังคงเหลืออยู่ในระบบ แรงกดดันที่มีต่ออัตรากำไรจากการที่มีสภาพคล่องสูงในระบบ การแข่งขันของธนาคารรัฐ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงระบบ การให้สินเชื่อที่ยังไม่รัดกุมเพียงพอ
การเปลี่ยนอันดับเครดิตมีดังต่อไปนี้
ธนาคารกสิกรไทย ("KBANK"): อันดับเครดิตสากลระยะยาวปรับเพิ่มเป็น 'BBB' แนวโน้มมีเสถียรภาพ จากเดิม 'BBB-' (BBB ลบ); อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น 'BBB-' (BBB ลบ) จากเดิม 'BB+'; อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปรับเพิ่มเป็น 'C/D' จากเดิม 'D'; อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวปรับเพิ่มเป็น 'AA(tha)'แนวโน้มมีเสถียรภาพ จากเดิม 'AA-(tha)' (AA ลบ(tha)); อันดับเครดิตในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น 'AA-(tha)' (AA ลบ(tha)) จากเดิม 'A+(tha)' ส่วนอันดับเครดิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่: อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ 'F3'; อันดับเครดิตสนับสนุนที่ '2'; อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นที่ 'F1+(tha)';
ธนาคารไทยพาณิชย์ ("SCB"): อันดับเครดิตสากลระยะยาวปรับเพิ่มเป็น 'BBB' แนวโน้มมีเสถียรภาพ จากเดิม 'BBB-' (BBB ลบ); อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับเพิ่มเป็น 'BBB-' (BBB ลบ) จากเดิม 'BB+'; อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปรับเพิ่มเป็น 'C/D' จากเดิม 'D'; ส่วนอันดับเครดิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่: อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ 'F3'; อันดับเครดิตสนับสนุนที่ '2'
ธนาคารกรุงไทย ("KTB") อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินปรับเพิ่มเป็น 'D' จากเดิม 'D/E'; ส่วนอันดับเครดิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่: อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB-' (BBB ลบ) แนวโน้มมีเสถียรภาพ; อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ 'F3'; อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ 'BB+', อันดับเครดิตสนับสนุนที่ '2'; อันดับเครดิตในประเทศ: ระยะยาวที่ 'AA(tha)' แนวโน้มมีเสถียรภาพ; ระยะสั้นที่ 'F1+(tha)'; อันดับเครดิตในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ 'AA-(tha)' (AA ลบ(tha))
ธนาคารกรุงเทพ: อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB-' (BBB ลบ) แนวโน้มเปลี่ยนเป็นบวก จากเดิมแนวโน้มมีเสถียรภาพ; ส่วนอันดับเครดิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่: อันดับเครดิตสากลระยะสั้นที่ 'F3'; อันดับเครดิตสากลของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ 'BB+'; อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'D'; อันดับเครดิตสนับสนุนที่ '2'
ธนาคารขนาดใหญ่ของไทยทั้งสี่แห่ง (BBL, KTB, KBANK และ SCB) มีส่วนแบ่งการตลาดด้านสินเชื่อ และเงินฝากรวมกัน ประมาณ 70% ดังนั้นฟิทช์เชื่อว่าแม้ว่าจะมีการยกเลิกการรับประกันเงินฝากโดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลน่าจะยังให้ความสนับสนุนต่อเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร เนื่องจากธนาคารขนาดใหญ่เหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา อันดับเครดิตระยะยาวของธนาคารไทยขนาดใหญ่ ได้ถูกสนับสนุนโดยการที่รัฐบาลเข้ามาให้ความช่วยเหลือและการคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือแก่ธนาคารเหล่านี้ มากกว่าจะสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเองซึ่งในขณะนั้นยังไม่แข็งแรงนัก ดังนั้นที่ผ่านมา การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของประเทศไทยจึงเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามขณะนี้ฟิทช์คาดว่า ความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเองซึ่งมีแนวโน้มในการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จะมีบทบาทมากขึ้นในการจัดอันดับเครดิตระยะยาวของธนาคารไทย
KBANK ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย มีผลกำไรสุทธิ 14.8 พันล้านบาทในปี 2546 เป็นผลมาจากการที่ค่าเผื่อหนี้สูญและต้นทุนการให้สินเชื่อลดลง นอกจากนี้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและเงินลงทุนในหุ้นกู้ที่สูงขึ้น รวมทั้งการบันทึกผลกำไรจากการปรับมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทจัดการสินทรัพย์ได้มีส่วนสนับสนุนผลประกอบการของธนาคาร ในขณะเดียวกัน SCB ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก็ได้รับประโยชน์จากการที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาคที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้น โดยธนาคารรายงานผลกำไรที่ 12.6 พันล้านบาทในปี 2546 อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ย และอัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ของ SCB ซึ่ง ในขณะนี้อยู่ระดับใกล้เคียงกับ KBANK จัดว่า อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่สุด เมื่อเทียบกับธนาคารไทยอื่นๆ คือ อยู่ใกล้ระดับ 3% และ 50 % ตามลำดับ ผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2547 ของ KBANK และ SCB ได้แสดงถึงผลการดำเนินงาน ความสามารถในการทำกำไรและงบดุลที่แข็งแกร่งของทั้งสอง ธนาคาร
การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตระยะยาวของ BBL ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นบวก สะท้อนถึงเงินกองทุนและระดับการกันสำรองหนี้สูญของธนาคารที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลกำไรและแนวโน้มการทำกำไรที่ดีขึ้นของธนาคาร การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารในเดือนมกราคม 2547 หลังจากที่ธนาคารได้ทำการเพิ่มทุน จำนวน 37 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูงของธนาคาร รวมทั้งอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยที่จำกัด การฟื้นตัวของ BBL
อัตราหนี้เสียหลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคารขนาดใหญ่ทั้งสามได้ปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราส่วนนี้ของ KBANK และ BBL ซึ่งอยู่ที่ 45% และ 55% ตามลำดับนั้น จะยังอยู่ในระดับ สูง อัตราหนี้เสียหลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของ SCB ลดลงมามากที่สุด อยู่ที่ระดับ 20% ซึ่งสะท้อนถึง เงินกองทุนและระดับการกันสำรองหนี้สูญที่แข็งแกร่งกว่าของธนาคาร
KBANK ได้มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารอาจทำการเพิ่มทุนเพื่อใช้ในการสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตหรือเพื่อการซื้อกิจการหลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศแผนแม่บทพัฒนาสถาบันการเงิน จากมุมมองของฟิทช์ การซื้อกิจการโดย KBANK หรือโดยธนาคารอื่นอาจมีผลกระทบในแง่ลบต่ออันดับเครดิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินและทางธุรกิจของกิจการที่จะถูกซื้อ ถึงแม้ว่า การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB ได้สะท้อนถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของฐานะทางการเงินของธนาคาร KTB ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงธุรกิจและปฎิรูปองค์กรให้ดีขึ้นอีก กลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อในเชิงรุกของธนาคาร (30% ต่อปี ในปี 2545 และ 2546) อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพของสินทรัพย์และการทำกำไรของธนาคารในอนาคต ผลการดำเนินงานของ KTB จะยังคงถูกกระทบโดยการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (60%) และการที่ทางธนาคารสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลซึ่งรวมถึงการเป็นผู้นำในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
หมายเหตุ : อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนของฟิทช์
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของฟิทช์วิเคราะห์ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารเมื่อไม่มีปัจจัยช่วยเหลือภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง อันดับเครดิตสนับสนุนวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการที่ทางธนาคารจะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น หรือ จากรัฐบาลถ้าทางธนาคารประสบปัญหา อันดับเครดิตนี้ไม่ใช่อันดับเครดิตของหนี้ แต่เป็นอันดับความแข่งแกร่งของสถานะการเงินของธนาคาร และระดับการสนับสนุนจากภายนอกซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีให้ทางธนาคารก็ได้
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 71.4% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--
-นท-