กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กระทรวงพลังงาน
"พรหมินทร์" ปลุก ยักษ์เอเชีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี พลิกหน้าประวัติศาสตร์สู่การใช้ เชื้อเพลิงทางเลือก ดันปรับขบวนการผลิตรถยนต์จากน้ำมันเป็น ไบโอดีเซล และก๊าซโซฮอล์ ชูเป็นวาระแห่งเอเชีย ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนและเอเปคที่ประเทศ ฟิลิปปินส์
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 7- 10 มิถุนายน 2547 นี้ จะมีการประชุมรัฐมนตรีพลังงานของอาเซียนและเอเปค ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งกระทรวงพลังงาน หวังจะใช้การประชุมเวทีนี้ เสนอ "ยุทธศาสตร์การปฏิวัติการใช้เชื้อเพลิงในเอเซีย" ซึ่งจะใช้ความได้เปรียบของประเทศไทย และประเทศจีน ที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ปรับเปลี่ยนขบวนการผลิตรถยนต์ใหม่ ให้ใช้พลังงานทางเลือก เช่น ไบโอดีเซล และก๊าซโซฮอล์ที่ผลิตได้ในภูมิภาคนี้เป็นหลัก แทนการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง โดยจะมีการหารือในรายละเอียดกับประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีด้วย
ทั้งนี้ การผลักดันยุทธศาสตร์นี้ จะนำไปสู่การลดผลกระทบจากราคาน้ำมัน และเป็นสร้างทางเลือกในอนาคตให้แก่ภูมิภาคเอเชีย ที่มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีการใช้พลังงาน ถึงร้อยละ 20 ของโลก คือเป็นการใช้เชื้อเพลิงเฉพาะน้ำมันอันดับสอง รองจากอเมริกา โดยเพิ่มขึ้นในภาคขนส่งเป็นหลัก อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติระบบขนส่งของจีน ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ของจีน ขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2546 ที่มีถึง 4.4 ล้านคัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 6.2 ล้านคัน หรือเติบโต ร้อยละ 40 ในปี 2548
"จากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงมากของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะความต้องการในประเทศจีน และกำลังผลิตจากประเทศตะวันออกกลาง ที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ยังไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปฏิวัติการเชื้อเพลิงในไทย และในภูมิภาคเอเซีย จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ ที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ให้ความสนใจ" นายแพทย์พรหมินทร์กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะถือโอกาส แถลงความร่วมมือการสำรวจและวิจัยด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ในรถยนต์อย่างเป็นเป็นรูปธรรมกับประเทศจีน ญี่ปุ่น โดยพร้อมจัดจะตั้งคณะทำงานศึกษาด้านนี้ อย่างจริงจัง ทั้งนี้คาดว่าในระยะสั้นน่าจะส่งผลด้านจิตวิทยาต่อราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงขณะนี้ ส่วนในระยะยาวนั้น คาดว่าจะทำให้ภูมิภาคเอเชีย มีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน ราคาต่ำ ทดแทนการนำเข้าน้ำมัน และที่สำคัญสามารถผลิตได้จากผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคเอง--จบ--
-นท-