สอน.เร่งปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล

ข่าวทั่วไป Monday May 31, 2004 16:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--สอน.
สอน.เร่งปรับปรุงและแก้ไขระเบียบและประกาศในอุตสาหกรรมอ้อยพบมีมากถึง 320 ฉบับแต่ใช้จริงเพียง 84 ฉบับเท่านั้นคาดในเร็วๆ นี้นำเข้ากอน.พิจารณายกเลิก เผยราคาอ้อยขั้นต้นจะสรุปได้ในการประชุมวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 นี้
นายอิสสระ โชติบุรการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงระเบียบและกฎต่างที่ใช้ในอุตสาหกรรมอ้อยตามที่นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมระเบียบและดำเนินการแก้ไขคาดว่าภายในเร็วๆนี้จะสามารถนำเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)พิจารณาเห็นชอบคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ภายในฤดูการปลูกอ้อยปี 2547/2548 เป็นอย่างเร็วอย่างช้าคือ ปี 2548/2549
ปัจจุบันระเบียบและกฎต่างที่ได้มีการจัดทำขึ้นตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน นั้นมีอยู่จริงจำนวน 320 ฉบับ แต่หากพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วระเบียบและประกาศต่างๆที่ใช้จริงมีอยู่เพียง 84 ฉบับเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นเพียงประกาศที่นำมาใช้ในลักษณะปีต่อปีเท่านั้น อาทิ ประกาศการจัดสรรน้ำตาลให้กับโรงงานน้ำตาล หรือประกาศการคำนวณราคาอ้อยมีกำหนดระยะเวลาการใช้เพียง 5 ปีต่อครั้ง บางครั้งก็ใช้ปีต่อปี
“หลังได้รับมอบหมายได้ไปพิจารณาและรวบรวมระเบียบและประกาศทั้งหมดแล้วพบว่าที่ใช้จริงในขณะนี้มีเพียง 84 ฉบับเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นการออกตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายมาตรา 17 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดแผนการปลูกอ้อย การกำหนดพื้นที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย หลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนกับสถาบันชาวไร่อ้อย การจัดสรรปริมาณอ้อย การตัดและส่งอ้อย การผลิต การจำหน่ายน้ำตาล และอื่นๆ โดย สอน.พยายามจะลดลงให้เหลือประมาณ 6 ฉบับ ทั้งนี้จะแยกเป็นเรื่องเกี่ยวกับ อ้อย-น้ำตาล การขนย้ายและการส่งออกน้ำตาล การควบคุมกำกับดูแลการผลิต เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อลดความซ้ำซ้อนและให้ง่ายต่อการปฏิบัติและลดข้อขัดแย้งลงได้"
อย่างไรก็ตาม นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้ สอน.ไปตรวจสอบระเบียบข้อกฎหมายภายใต้พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ที่มีมากกว่า 80 ฉบับ เนื่องจากเห็นว่าระเบียบและประกาศบางฉบับมีความล้าสมัยและไม่เหมาะสมกับภาวะการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับมีความซ้ำซ้อนกันมาก ซึ่งหากเห็นว่าไม่เหมาะสมให้ยกเลิกได้ทันที และให้นำระบบการจัดการแบบ Contract Farming หรือคู่สัญญา มาใช้แทนซึ่งวิธีการบริหารเดิม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจากนี้ไปจะเริ่มเปิดรับฟังความเห็นจากชาวไร่และโรงงานน้ำตาลทรายรวมถึงร่วมหารือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ คาดว่าจะสรุปและสามารถประกาศระเบียบใหม่เพื่อบังคับใช้ในฤดูการหีบอ้อยปี 2548/2549
ทั้งนี้การนำระบบดังกล่าวมาใช้นั้นชาวไร่อ้อยจะได้รับการันตีในด้านราคาโดยอ้อยในพื้นที่ 1 ไร่ ต้องผลิตอ้อยได้ไม่ต่ำกว่า 15 ตันและมีค่าความหวานไม่ต่ำกว่า 12 ซีซีเอสและต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทางสอน.อยู่ระหว่างการศึกษาเช่นกัน
สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นของปี 2546/2547 นั้น ขณะนี้ได้มีการทดรองจ่ายราคาอ้อยขั้นต้นให้กับชาวไร่อ้อยไปแล้ว 425 บาทต่อตันอ้อย และรัฐบาลได้อนุมัติเงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวไร่อ้อยอีกจำนวน 53 บาทต่อตันอ้อย อย่างไรก็ดีคณะกรรมการบริหารจะได้มีการการประชุมหารือเพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 31 พ.ค. 2547 นี้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: คุณอาร์ต 0-2980-0920-1--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ