กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--วช.
ปัจจุบัน สภาพพื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาคเหนือ มักถูกมองว่าเป็นผลมาจากการที่ชนกลุ่มน้อยเข้าบุกถางทำลายป่าจนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย แต่ทว่า
ในความเป็นจริง การที่ผืนป่าลดลงด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ซึ่งต้องหาทางป้องกันแก้ไข สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ นางสาวประพิณวดี ศิริศุภลักษณ์ และนางสาวชพิกา สังขพิทักษ์ จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการวิจัยเรื่อง "การถือครองที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในเขตพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย : การควบคุมของรัฐ การจัดการชุมชน หรือสิทธิในการใช้ของปัจเจกชน" โดยใช้หมู่บ้าน 3 แห่ง ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่หมู่บ้านผานกกก (หมู่บ้านต้นน้ำ) ,หมู่บ้านม่วงคำ (หมู่บ้านปลายน้ำ) และหมู่บ้านแม่สาใหม่ เป็นพื้นที่ศึกษา ซึ่งพบว่าในการถือครองที่ดินและทรัพยกรธรรมชาติมักจะถูกแทรกแซงจากรัฐด้วยการจัดการที่ขาดความโปร่งใส ความถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากการนำนโยบาย
ที่ดินและป่าไม้ในระดับชาติไปปฎิบัติจนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างระบบการถือครองแบบจารีตและระบบกฎหมายของรัฐในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จึงทำให้ชุมชนท้องถิ่นต้องสร้างกลยุทธ์เพื่อทำให้เกิดสิทธิในการใช้ที่ดินอย่างมั่นคง ดังนั้นผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายไม่ควรจะละเลยต่อความซับซ้อนเชิงกฎหมายของระบบถือครองในท้องถิ่นและความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นของชุมชนในท้องถิ่น--จบ--
-นท-