สอ.ชี้โอกาสสปาไทยในตลาดออสซี่สดใสแนะวางภาพพจน์ของธุรกิจสปาไทย-นวดไทยให้ชัดเจน-อยู่ในระดับพรีเมี่ยม หมั่นวางคอนเซปต์สปาต้องตามเทรนด์ตลาด

ข่าวทั่วไป Friday May 11, 2012 11:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ถึงธุรกิจสปาและนวดไทยในออสเตรเลียตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆว่า ธุรกิจสปามีแนวโน้มสดใส โดยอิงไปตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าออสเตรเลียจะอยู่ในระดับ 3% ต่อปี ต่อเนื่องในระดับนี้ไปจนถึงปี 2558 ท่ามกลางปัจจัยบวกในเรื่องอัตราการออมเงินของออสเตรเลียสูงเป็นประวัติการณ์ โดยธุรกิจสปาฯจะเกี่ยวเนื่องกับปริมาณนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศออสเตรเลียและจากต่างประเทศที่มาใช้บริการ “กิจการสปามีให้บริการกว่า 600 แห่ง และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลซ์ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรชาวไทยอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรมากที่สุด รองลงมาเป็นนักท่องเที่ยวจากทวีปอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯและแคนาดา) และภูมิภาคเอเชีย(ยกเว้นชาวญี่ปุ่น) และยุโรป โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ใช้เวลาท่องเที่ยว 10-39 วัน และ 30% จากจำนวนดังกล่าวจะมาใช้บริการสปา”นางนันทวัลย์ กล่าว สำหรับการประกอบธุรกิจสปาในออสเตรเลีย แม้ว่าอุตสาหกรรมการนวดจะเป็นเอกเทศ ไม่มีกฎข้อบังคับ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องจดทะเบียนเป็นคลีนิกบริการการนวด แต่จะต้องจดทะเบียนจัดตั้งสถานบริการ โดยกระทรวงพาณิชย์ของรัฐนั้นๆ ผู้ประสงค์ที่จะดำเนินธุรกิจควรติดต่อขอคำแนะนำด้านการจัดตั้งสถานบริการเพื่อสุขภาพ จากเขตปกครองของแต่ละท้องถิ่นในพื้นที่ที่ทำการจัดตั้งเนื่องจากอุตสาหกรรมการนวดในออสเตรเลียมีการควบคุมมาตรฐานจรรยาบรรณ และวิชาชีพของผู้ประกอบสถานบริการ โดยสมาคม ซึ่งจะมีเงื่อนไขในการรับสมัครสมาชิกให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ทางสมาคมเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้นักลงทุนไทยควรจะเสนอจุดขายที่แตกต่างโดยควรจะมีการสำรวจความนิยมของผู้บริโภคในออสเตรเลียว่า มองสปาไทยเป็นอย่างไร เพื่อประกอบการวางจุดขาย โดยควรจะเน้นเรื่องความเป็นเอกลักษณ์สูง เรื่องประโยชน์ต่อสุขภาพ และคุณภาพมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งความเป็นมืออาชีพด้วยส่วนบุคคลากรที่จะให้บริการนั้น ถ้าไม่มีความรู้ หรือใบรับรองจากสถาบันใดมาก่อน อาจจำเป็นต้องเรียนหลักสูตร เกี่ยวกับการนวด กับสถาบันที่ได้รับการยอมรับ อย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน หรือ มีความรู้ ความสามารถในการนวดจริง จะต้องมีหนังสือแสดงว่า ได้รับการฝึกการแพทย์ การนวดจากสถาบันก่อนเป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับวิชาเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ อีก 40 ชั่วโมง และควรที่จะมีปริญญาบัตรทางด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น นางนันทวัลย์ กล่าวถึงโอกาสและช่องทางในการทำธุรกิจว่า แม้จะมีอัตราการเติบโตไม่สูงนัก แต่มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ และโอกาสการลงทุนที่ยังเปิดกว้าง โดยเฉพาะบริการนวดไทยและสปาไทย มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับภายในหมู่ผู้บริโภคชาวออสเตรเลียและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดีคู่แข่งในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักลงทุนที่นอกจากการรักษาคุณภาพของการบริการแล้ว ยังต้องคำนึงถึงรายละเอียดในการออกแบบสถานบริการ และเรื่องการตลาด การประชาสัมพันธ์ลูกค้าด้วย ม.ล.ภู่ทอง ทองใหญ่ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ กล่าวว่า ในเมืองใหญ่ เช่น ซิดนีย์ เมลเบิร์น ธุรกิจ Day Spas เป็นที่นิยม โดยกลุ่มเป้าหมาย จะเป็นชาวเมืองที่ต้องการผ่อนคลายจากการทำงาน การให้เวลาดูแลตัวเอง และการหนีจากความวุ่นวายในเมือง แต่สำหรับสปาที่เปิดบริการตามแหล่งท่องเที่ยว ควรจะมีกิจกรรมเพิ่มเติมนอกจากสปา เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ผ่อนคลายตามอัธยาศัย โดยอาจจะมีกิจกรรมออกกำลังกาย กิจกรรมกีฬาอื่นเสริม ซึ่งการเลือกจัดกิจกรรมและการออกแบบการให้บริการ จะเป็นจุดขายอีกจุดหนึ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญในการเลือกที่จะใช้บริการสปาต่างๆนักลงทุนอาจจะร่วมมือกับโรงแรมที่มีสาขาทั่วโลก เช่น ไฮแอท(Hyatt),แอคคอร์(Accor), คราวน์(Crown)เพื่อการทำสปารีสอร์ทโดยเฉพาะทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงระเบียบการลงทุนและการเปิดกิจการของแต่ละรัฐ นอกจากนี้สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเป็นที่ยอมรับได้ โดยอาจจะเป็นทั้งการเปิดเว็บไซต์ และการสั่งจองรวมทั้งชำระเงินค่าบริการทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ความสะดวกสบายแก่ลูกค้ามากที่สุด หรือการจัดประชาสัมพันธ์ผ่านทางเอเย่นต์ทัวร์ต่างๆ การจัดเพ็จเกจเพื่อสุขภาพเพื่อเพิ่มโอกาส หรือการเปิดรับสมาชิกและการให้ส่วนลดในช่วงเทศกาลพิเศษ เช่น คริสต์มาส และ อีสเตอร์ เป็นต้น สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการส่งออก โทร.(02) 507-7932-34

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ