กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.98% โดย บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารที่ระดับ “A” และ “A-” ตามลำดับ ด้วยแนวโน้ม “Positive” หรือ “บวก” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหาร การมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี และความสามารถในการดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีและความสามารถในการรักษาระดับกำไรไว้ได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของธนาคารมีข้อจำกัดจากการมีเครือข่ายที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่น ๆ ตลอดจนสัดส่วนภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ขยายสินเชื่อ รวมถึงความเสี่ยงด้านเงินทุนที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของการเคลื่อนย้ายฐานเงินฝากภายหลังการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากในเดือนสิงหาคม 2555 นอกจากนี้ ธนาคารยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคาร ตลอดจนความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในระยะยาว ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนความคาดหวังว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงดำรงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และมีผลประกอบการที่ดีตามที่คาดการณ์ไว้ในระยะกลาง แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงในช่วงภาวะถดถอยในอนาคตอันเกิดจากความไม่แน่นอนของระบบธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ความท้าทายของธนาคารในเรื่องความสามารถในการรักษาจุดแข็งที่มีอยู่ การมีฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้น และการรักษาเสถียรภาพของแหล่งเงินทุนไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่ออันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคาร
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารทิสโก้พัฒนาบุคลากรในระดับผู้บริหารโดยมีแนวทางการบริหารงานที่มีความระมัดระวังซึ่งส่งผลให้ธนาคารสามารถเติบโตในตลาดกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ณ สิ้นปี 2554 ธนาคารมีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 10 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.2% และเงินรับฝาก 0.5% สินเชื่อของธนาคารเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตถึง 33% ในปี 2553 และ 24% ในปี 2554 ธนาคารมียอดสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2554 จำนวน 179.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จาก 145.2 พันล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2553 โดยเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย นอกจากนี้ ธนาคารยังรักษาสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อเอาไว้ได้โดยเป็นผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 จากจำนวน 17 แห่ง ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 13%
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ฐานะทางการเงินของธนาคารทิสโก้ปรับตัวดีขึ้น โดยธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2554 จำนวน 2.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จาก 2.0 พันล้านบาทในปี 2553 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.36% และ 17.00% ตามลำดับในปี 2553 เป็น 1.41% และ 20.22% ในปี 2554 อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียม รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายด้านสำรองหนี้สูญที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 ธนาคารมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงเนื่องจากต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นมาก อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้นจากการระดมเงินทุนที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง นอกจากนี้ กฎเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมแบบใหม่ที่คำนวณจากฐานเงินฝากและตั๋วแลกเงินซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2555 นี้ยังอาจกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารด้วย
ธนาคารทิสโก้มีระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2554 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพทั้งสิ้น 2.2 พันล้านบาทซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 2.6 พันล้านบาทในปี 2551 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 2.5% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 1.2% ในปี 2554 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่ง และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ระดับ 3.7% สำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารยังอยู่ในระดับสูง โดยค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในปี 2554 คิดเป็น 185% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่ระดับ 164% นอกจากนี้ ในปี 2554 ธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) คิดเป็น 0.17 เท่าของเงินกองทุนซึ่งรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญซึ่งดีกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ระดับ 0.51 เท่า สถานะสินเชื่อของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่ดีแม้จะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2554 ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารจะยังคงสามารถควบคุมปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพได้เป็นอย่างดี
ด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องนั้น ธนาคารทิสโก้มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่งโดยธนาคารยังคงพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ซึ่งอาจเกิดความผันผวนได้ง่ายกว่าเงินทุนจากลูกค้ารายย่อย ณ สิ้นปี 2554 แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่ของธนาคารมาจากผู้ฝากเงินและผู้ให้กู้ยืมรายใหญ่ (เงินฝากหรือตั๋วแลกเงินที่มากกว่า 10 ล้านบาท) โดยคิดเป็น 73% ของฐานเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน สภาพคล่องของธนาคารอาจอ่อนแอลงหากลูกค้ารายใหญ่จำนวนมากเบิกถอนเงินในคราวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีแผนเพิ่มจำนวนบัญชีลูกค้ารายย่อยเพื่อให้แหล่งเงินทุนมีการกระจายตัวดียิ่งขึ้น ตามกฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝาก วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะลดลงจาก 50 ล้านบาทเหลือเพียง 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2555 นี้ แม้จะคาดว่าฐานเงินฝากไม่น่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงภายหลังการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก แต่ผู้ฝากเงินอาจมีการโยกย้ายเงินฝากจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินฝากอาจส่งผลต่อความแข็งแกร่งทางการเงินและเสถียรภาพของแหล่งเงินทุนของธนาคารได้ด้วยเช่นกัน
ธนาคารทิสโก้คำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตด้วยวิธี Internal Rating Based Approach (IRB) ภายใต้หลักเกณฑ์ Basel II อีกทั้งยังพัฒนากระบวนการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนภายใน (Internal Capital Adequacy Assessment Process -- ICAAP) ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมีระบบการบริหารความเสี่ยงและบริหารจัดการเงินกองทุนที่ดียิ่งขึ้น ในปี 2554 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 9.88% และ 14.91% ตามลำดับ ลดลงจากระดับ 11.29% และ 15.23% ในปี 2553 อันเป็นผลจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อ อัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารยังคงใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของระบบที่ระดับ 14.79% และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 8.5% อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 9.3% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 7.5% ในปี 2553 และ 6.5% ในปี 2554 อีกทั้งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบในปี 2554 ที่ระดับ 9.6% ด้วย อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงมีเงินกองทุนที่เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจและรองรับผลขาดทุนที่มิอาจคาดการณ์ได้ในระยะกลาง ทริสเรทติ้งกล่าว
ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCOB)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ในโครงการ Medium-term Debenture
TISCO133A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,324.3 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A
TISCO133B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A
TISCO134A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 503.9 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A
TISCO192A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A-
TISCO195A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A-
TISCO205A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 คงเดิมที่ A-
TISCO20DA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 คงเดิมที่ A-
TISCO223A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 คงเดิมที่ A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive (บวก)