กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--สหมงคลฟิล์ม
บทบาท-คาแร็คเตอร์
เรื่องนี้ผมรับบทเป็น “เขื่อน” เป็นนักจิตวิทยาที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญในการอ่านใจคน อ่านจิตอาชญากร มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก เพราะเขาเคยใช้ความสามารถของตัวเองผ่านคดีมาแล้วหลายคดี ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเก่ง ล่าสุด เขาก็ถูกขอให้มาช่วยสืบคดีฆาตกรรมต่อเนื่องสุดสยองร่วมกับ “เทียน” (ป๊อบปี้-บุญยิสา จันทราราชัย) นิติวิทยาศาสตร์สาว ก่อนที่ทั้งสองคนจะไขปริศนาของคดีนี้เสร็จสมบูรณ์ เขื่อนก็ได้พบกับ “คีย์” (บีม-ศรัณยู ประชากริช)เพื่อนเก่าที่เขาไม่ค่อยอยากเจอหน้า เหมือนมีเบื้องหลังบางอย่างที่ปกปิดกันอยู่ แล้วก็ยังต้องเจอกับ “กวาง” (แม็กกี้ อาภา)นักศึกษาสาวที่เคยเป็นผู้ป่วยของเขาที่จู่ๆ ก็มาเจอกัน เหมือนมีเบื้องหลังอะไรบางอย่างระหว่าง4 คนนี้ที่เชื่อมโยงกันอยู่ ต้องติดตามในหนังครับว่าเรื่องทั้งหมดจะเป็นยังไง
โดยตัว “เขื่อน” มีคาแร็คเตอร์เหมือนหรือแตกต่างจากตัวแบงค์ยังไง และความยากง่ายในการเข้าถึงบทนี้
ผมว่าส่วนใหญ่จะไม่เหมือนเลยครับ จะตรงข้ามกันสิ้นเชิงเลยครับ ทั้งนิสัยและคาแร็คเตอร์ เพราะว่าโดยส่วนตัวของผมก็ยังเป็นนักศึกษาอยู่ แต่คาแร็คเตอร์นี้จะโตกว่าผม จะเป็นหมอที่มีความสามารถมากไปเลย แต่ความเหมือนก็จะเป็นด้านความคิดเชิงแง่บวกแง่ลบ อาจจะคล้ายๆ กันนะครับ
ก็ต้องปรับลุคกันเยอะมากเลยครับ พลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลย ปรับลุค คาแร็คเตอร์ ท่าทางในการเดิน การพูด ความคิด แววตาทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปหมดเลย เพราะว่าวัยรุ่นกับผู้ใหญ่จะตรงกันข้ามกันในการกระทำพฤติกรรมต่างๆ นะครับ
การเข้าถึงบทบาท ตอนแรกผมก็กลัวมากครับว่าเราจะเข้าถึงตัวละครได้ไหม ง่ายๆ คือคุณต้องเชื่อในตัวละคร คุณต้องคิดเหมือนตัวละคร ที่มาที่ไปเขาเป็นยังไง ทำไมเขาถึงคิดอย่างนี้ ทำไมเขาถึงคิดประสงค์ร้ายประสงค์ดี เพราะว่าเมื่อก่อนตัวเขาเจออะไรมา ก็จะคิดเป็นทีละข้อๆ ครับ ซึ่งตอนแรกมันจะดูเหมือนยาก แต่พอเราเข้าใจคิดถึงทีละข้อ มันจะดูง่าย มันแบบแก้โจทย์ผ่านเลยตรงนี้ เพราะอย่างนี้เขาถึงเป็นอย่างนี้ เราต้องเข้าไปให้ถูกจุดของเขาครับ
ได้ไปเรียนการแสดงกับหม่อมน้อยด้วย
ใช่ครับ ได้ไปเรียนด้วยกันทั้ง 4 คนครับ ตอนแรกหม่อมน้อยเค้าจะให้เรียนเกี่ยวกับเรื่องร่างกาย ให้รู้จักกับร่างกายของเราแบบทุกข้อต่อต่างๆ ทุกอย่าง คือมันเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงที่ดีมาก เพราะเกิดเรายังไม่รู้จักร่างกายของตัวเอง เราก็จะใช้งานของมันไม่ถึงที่สุดครับ เรียนด้วยกันทั้ง 4 คนตอนแรกๆ ก็เขินๆ อายๆ เพราะยังไม่รู้จัก ไม่สนิทกันดี แต่พอหลังๆ มาก็เริ่มรู้จักกัน เพราะเจอกันในกองบ่อยๆ ก็คุยกันก็สนิทกันมากขึ้นครับ สรุปแล้วก็ได้ใช้ที่ไปเรียนก่อนหน้านี้มาเยอะเลยครับ อย่างเรื่องแววตาเวลาหันไปมองอะไรอย่างนี้ เขาจะค่อยๆ มองจนเจอจุดๆ หนึ่งปุ๊บ แล้วก็โฟกัส แล้วก็จับจุดอยู่กับมัน เราจะเล่นหลอกไม่ได้ เราต้องเล่นจริง เรามองอะไรก็ต้องมองจริง ไม่ใช่แบบมองเฟคๆ ไม่ได้เลยครับ
มีการซ้อมบทก่อนถ่ายทำด้วย
ใช่ครับ มีการอ่านบทด้วยกัน ให้แสดงความคิดว่าเป็นยังไง เพราะว่าอะไร ทำไมตัวละครนี้เป็นอย่างนี้ ทำไมตัวละครต้องทำอย่างนี้ ซึ่งตรงจุดนี้มีส่วนช่วยให้ผมแสดงลื่นไหล มันช่วยได้มากเลยครับ เพราะบางอย่างเราคาดไม่ถึงว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนี้ แล้วพี่อุ๋ยก็บอกเหตุผลว่าเพราะเป็นอย่างนี้ๆ ซึ่งมันทำให้การซ้อมอ่านบทมันไม่ใช่แค่การอ่านผ่านๆ แล้วเล่นตาม แต่คือเราอ่านแล้วต้องรู้ว่าที่มาเป็นยังไง แล้วทำไมตัวละครนั้นถึงต้องทำอย่างนี้ ต้องอ่านให้ลึกแล้วก็วิเคราะห์ออกมาให้ได้ มันก็ช่วยให้เราเล่นได้ง่ายขึ้นครับ
ความรู้สึกต่อการเข้าฉากครั้งแรกเป็นอย่างไร
เข้าฉากครั้งแรกเนี่ยตื่นเต้นมากครับ ใจสั่น แทบจะลืมทุกอย่างไปเลย มันจะเป็นฉากที่ฝนตกแล้วเราก็ชวนนางเอกมาขึ้นรถด้วยกัน ฉากนั้นก็รู้สึกเขินและตื่นเต้นมากเพราะว่าเป็นครั้งแรก แล้วตอนนั้นรู้สึกเหงื่อออกเยอะจนแบบทุกคนตกใจว่าทำไมแบงค์ตื่นเต้นขนาดนั้น แต่ก็ผ่านไปด้วยดีนะครับ
ประทับใจหรืออินกับฉากไหนเป็นพิเศษ
อินและประทับใจฉากไหนมากที่สุดเหรอครับ น่าจะเป็นฉากตอนที่เขื่อนพูดเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยา มันเป็นอะไรที่ดีมากเลยนะครับ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของจิตใจคนเราครับ ผมได้ฟังแล้วก็ชอบมากคือเขาจะบอกว่า ทำไมคนเราต้องคิดในแง่ลบ มนุษย์คิดในแง่ลบจนใจเราแย่หมดไปแล้ว คิดในแง่บวกแล้วไม่ต้องไปตีค่าอะไรมากมาย ถ้าสมมติคนขับรถปาดหน้าเราก็ไปโมโหใส่ปุ๊บ เรารู้สึกเครียด อารมณ์ร้อน หงุดหงิด พาลกันไปเปล่าๆ เขาปาดรถใส่หน้าเรา เขาอาจจะรีบ เพราะว่าเขาอาจจะต้องรีบไปทำงานเพราะว่าสายไม่ได้ คิดในแง่ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจ คิดในแง่ดีจิตใจเราแจ่มใส โอเค แค่นี้ก็พอ
เล่นฉากนี้ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ตัวเราแล้ว ก็กลายเป็นเหมือนนักจิตวิทยาจริงๆ พอผมพูดจบปุ๊บ โห...เป็นฉากที่กลัวที่สุดด้วยนะครับ เพราะบทมันยาว แต่พอมันพูดผ่านไปแล้ว เหมือนเป็นสภาพแบบเป็นอาจารย์พูดกับนักเรียน 20-30 คนครับ ไม่คิดว่าจะทำได้แต่พอปุ๊บ โห...มันทำได้ รู้สึกดีใจมากครับ
จริงๆ มันก็ยากและน่าสนใจทั้งเรื่องนะครับ ทุกบททุกตอนทุกช่วงในเรื่องเนี่ยจะทำให้เราคิดได้ในหลายๆ แง่มุม ซึ่งมันน่าสนใจมากครับ
ตั้งแต่ฉากแรกจนถึงปิดกล้องพอใจงานแสดงของตัวเองมากน้อยแค่ไหน
ก็พอใจนะครับ เพราะทุกครั้งผมก็จะทำงานเต็มที่ ถามว่าคาดหวังไหมกับหนังเรื่องนี้ ก็คาดหวังในเรื่องการแสดงของตัวเองมาก เพราะว่าที่เราทำไป เราก็ทุ่มเท ก็อยากจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกลับคืนมาตามที่เราทุ่มเทไปนะครับ ที่คุ้มค่าที่สุดก็คือได้ประสบการณ์ในทุกฉากเลยครับ เพราะว่าจะมีข้อผิดพลาดให้เราได้นำมาปรับแก้ เพราะผมก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่มีอะไรเลยก็ค่อยๆ ปรับแต่งทีละนิดทีละหน่อยเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้นครับ
การร่วมงานกับเพื่อนนักแสดง
รู้สึกดีที่ได้มาแสดงกับทีมนี้ทุกคนนะครับ อย่างพี่บีมตอนแรกเราก็เกร็งๆ ไม่กล้าคุยกับพี่เขาครับ เพราะว่ายังไงไม่รู้ แต่คือหลังๆ ก็มาสนิทกัน คุยกันถูกคอครับ และพี่บีมเขาก็สอนผมหลายๆ อย่างเกี่ยวกับเรื่องการแสดง เขาก็จะชี้แนะว่าอย่างนี้ๆ นะ ซึ่งทำให้เราไม่เกร็งในการแสดงร่วมด้วย ก็เริ่มสนิทกับพี่เขา แล้วก็คุยกันมากขึ้นครับจากที่แรกๆ ไม่กล้าคุยเลย
ป๊อปปี้จะเข้าฉากด้วยกันเยอะมาก ก็คือป๊อปปี้ก็จะเข้ากันง่ายหน่อย เพราะว่ารู้จักกันอยู่แล้ว ก็เลยเล่นกันลื่นไหลดีเลย ก็สนิทกันตั้งแต่แรกแล้วครับ พอมาแสดงด้วยกันมันก็เลยค่อนข้างง่าย และก็เลยโอเคเลยครับ
ส่วนน้องแม็กกี้ก็จะเล่นแกล้งกันตลอดเวลา น้องแม็กกี้จะเฟรนด์ลี่ เจอหน้าปุ๊บก็ทักกันแกล้งกันตลอด ก็เลยเล่นเข้าขากันได้ไม่ยากนัก ส่วนใหญ่ในกองก็จะสนิทกันทุกคน ผมก็จะคุยกับทุกคนเลยนะครับ
การร่วมงานกับพี่อุ๋ย นนทรีย์เป็นยังไงบ้าง
ผมประทับใจมากทำงานกับพี่อุ๋ยมากครับ พี่เขาเป็นผู้กำกับที่เก็บรายละเอียดทุกอย่าง ตั้งแต่บท การแสดงจนถึงเสื้อผ้าหน้าผม เขาเป็นผู้กำกับที่ละเอียดมาก ผมเลยรู้สึกโชคดีมากที่ได้ทำงานกับพี่อุ๋ยครับ
เรื่องการแสดงก็สอนเรื่องลมหายใจเป็นเรื่องที่ทำให้ผมรู้สึกว่า เออ...มันใช่ คนเวลาหายใจ อารมณ์ดีใจ อารมณ์โกรธ อารมณ์เศร้า การหายใจมันจะไม่เหมือนกัน อารมณ์โกรธก็จะหายใจแรง พี่อุ๋ยจะสอนทุกอย่าง ผมรู้สึกว่าโชคดีมากครับที่ได้เล่นหนังของพี่อุ๋ยครับ
ความน่าสนใจโดยรวมของหนัง
ในภาพยนตร์ “คน-โลก-จิต” นะครับ ถ้าคนมองดูผ่านๆ จะเป็นเหมือนหนังสอบสวนสืบสวนคดีฆาตกรรม แต่เอาจริงๆ เรามองลึกๆ เจาะละเอียดแล้วนะครับ จะเป็นหนังที่สอนคนเรื่องของปม เรื่องของจิตใจ เรื่องของทุกอย่าง คือหนังจะเล่าเรื่องราวของคน โลก และจิต ทั้งสามคำนี้มีความหมายเชื่อมโยงกันหมดเลยครับ
เรื่องนี้ก็จะพูดถึงเรื่องของมนุษย์ มนุษย์หรือคนเราชอบแบบเวลาเราเจอเรื่องอะไรที่แย่ๆ มาแล้วชอบเก็บกด ไม่ค่อยปล่อยออกมา เวลาเก็บไว้ก็ทำให้เครียด จะเป็นตัวฉุดให้เราไม่พัฒนา เราควรที่จะยอมรับมันแล้วก็ปล่อยวาง ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง ไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์หรอกครับ ทุกคนเกิดมาพร้อมกับข้อผิดพลาด แต่สามารถแก้ไขได้ เรื่องของ คน โลก และจิต สามอย่างนี้มันเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง มันก็สะท้อนมาจากตัวคุณเอง เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ
ก็อยากฝากผลงานเรื่องแรกของผมนะครับ เรื่อง “คน-โลก-จิต” นะครับ งานกำกับอีกครั้งของพี่อุ๋ย นนทรีย์ซึ่งหายไปนานเกือบ 5 ปี และก็เป็นแนวภาพยนตร์ที่ไม่ค่อยมีในเมืองไทย เป็นไซโคดราม่าทริลเลอร์ที่มีทั้งความบันเทิงและสาระต่างๆ เยอะมากครับ มีเรื่องอะไรที่หักมุมที่คุณดูแล้วต้องเซอร์ไพรส์แน่ๆ ครับ 17 พ.ค.นี้ครับ