กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กทม.
นายธีระชัย เธียรสรรชัย ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม.เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครต้องแบกรับภาระรายจ่ายที่ต้องใช้ในการพัฒนากรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และถึงแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลก็ยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่วนรายได้ที่กรุงเทพมหานครได้รับจากการจัด เก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้ายในปีงบประมาณ 2547 นั้น ก็ยังไม่เป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้ ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมาย กรุงเทพมหานครจึงขอความร่วมมือผู้ค้างภาษีรีบนำเงินค่าภาษีมาชำระให้แก่กรุงเทพมหานครโดยเร็ว ซึ่งหากมาชำระล่าช้า ผู้ค้างภาษีจะต้องเสียเงินเพิ่มตามกฎหมายด้วย
สำหรับในรายที่หลีกเลี่ยงไม่ชำระภาษีให้แก่กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครก็มีความจำเป็นต้องนำมาตรการบังคับตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษี พ.ศ.2546 มาใช้กับผู้ค้างภาษี โดยกรุงเทพมหานครจะดำเนินการดังนี้ กรณีภาษีบำรุงท้องที่ เมื่อพ้นกำหนดเวลาชำระเงินค่าภาษีตามใบแจ้งรายการประเมิน หรือกรณีภาษีโรงเรือนและที่ดินเมื่อพ้นกำหนดเวลา 4 เดือน นับแต่พ้นกำหนดเวลาชำระเงินตามใบแจ้งรายการประเมิน ถ้าผู้ค้างภาษีไม่นำเงินค่าภาษีมาชำระ กรุงเทพมหานครจะออกหนังสือเตือน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะให้เวลาผู้ค้างภาษีนำเงินค่าภาษีชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเตือน การเตือนครั้งที่ 2 จะให้เวลามาชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเตือน ซึ่งการเตือนครั้งที่ 2 นี้ ระบุด้วยว่า หากไม่ชำระภายในกำหนดกรุงเทพมหานครจะดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สิน ขายทอดตลาด ในกรณีที่ผู้ค้างภาษีได้รับหนังสือเตือนแล้ว ยินยอมมาชำระภาษีโดยประสงค์จะขอชำระภาษีค้างเป็นงวด ๆ รายเดือน กรุงเทพมหานครก็จะดำเนินการตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการบริหารการชำระภาษีค้างต่อไป แต่ถ้าครบกำหนดเวลาตามหนังสือเตือนครั้งที่ 2 แล้ว ผู้ค้างภาษียังไม่ยอมนำเงินค่าภาษีมาชำระ กรุงเทพมหานครจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ออกไปสืบสวนหาทรัพย์สินพร้อมประมาณราคาทรัพย์สินของผู้ค้างภาษี เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสืบสวนพร้อมประมาณราคาทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีแล้ว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็จะแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับภาษีเพื่อดำเนินการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีให้พอแก่จำนวนหนี้ค่าภาษีที่ค้าง และนำทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดเพื่อนำเงินที่ขายได้มาชำระค่าภาษี ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้ว เงินที่เหลือกรุงเทพมหานครจะคืนให้แก่ผู้ค้างภาษี
กรุงเทพมหานครจึงขอความร่วมมือผู้ค้างภาษีโปรดรีบนำเงินค่าภาษีมาชำระให้แก่กรุงเทพมหานครโดยเร็ว เพื่อกรุงเทพมหานครจะได้นำเงินค่าภาษีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนากรุงเทพมหานครตามอำนาจหน้าที่ต่อไป--จบ--
-นห-