กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--คูดี
การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5” (Robot Design Contest 2012, RDC 2012) รอบชิงชนะเลิศ จัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเฟ้นหาเยาวชนตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoboCon 2012 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2555 นี้ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแก่ทีมชนะเลิศและปิดการแข่งขัน ณ ลานศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ชั้น 1 ประตูน้ำ
โดยปีนี้ มีจำนวน 20 ทีม จาก 24 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ปรากฎว่าทีมที่ชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ ทีม SEA LEVEL ประกอบด้วย น.ส.สาธิมา ประเสริฐเจริญสุข ชั้นปีที่ 2 จากมหาวิทยาลัยมหิดล, นายอุหมาด หีมโป๊ะหมอ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาลัยรัตภูมิ, นายกานต์ไกร จิตรหมั่น ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายอภิวิชญ์ พวงศรีเจริญ ชั้นปีที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายบรรณวิชญ์ ติยะบวรวงศ์ ชั้นปีที่ 1 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบัง
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวว่า การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5 หรือ RDC 2012 ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดสำคัญของการก้าวไปข้างหน้าสู่เทคโนโลยีที่ต้องใช้ความรู้และทักษะที่สูงขึ้นหรือเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องอาศัยการวิจัยคิดค้นและทดลอง นำไปต่อยอดเพื่อการพัฒนาประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างที่ประเทศต้องการ และเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถและพัฒนาทักษะกาเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีในการออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์ได้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการทำงานเป็นทีมตลอดจนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การอยู่ร่วมกันและรู้จักเพื่อนใหม่ ถือเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนที่ล้ำค่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในภายหน้าสำหรับการทำงานในวิชาชีพวิศวกรต่อไป
“เป้าหมายในการสนับสนุน เราต้องตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างบุคคลากรภาคการศึกษาทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และมีความสำคัญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ ทั้งทางด้านการแพทย์และสุขภาพ การรักษาความปลอดภัย การศึกษาและความบันเทิงมากขึ้น เราจึงต้องพัฒนาทักษะและสนับสนุนให้เยาวชนไทยหันมาสนใจทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ได้นำหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ หรือ Mobile Robot Platform มาเป็นตัวช่วยเสริมในเรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หุ่นยนต์ เพื่อเป็นการต่อยอดนักศึกษาในการเรียนและประโยชน์กับการทำงานหรือประกอบอาชีพในโรงงานสมัยใหม่อีกด้วย” รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว
ด้านตัวแทนทีมผู้ชนะเลิศ น.ส.สาธิมา ประเสริฐเจริญสุข นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ทีมสามารถคว้าชัยชนะมาได้ คิดว่าจุดเด่นของทีมที่ทำให้ชนะได้มาจากการช่วยกันวางแผนที่ดี สามารถควบคุมหุ่นได้แม่นยำและมั่นคง และมีการช่วยกันคิดถึงวิธีการแก้เกมส์ของทีมคู่ต่อสู้ว่าถ้าเขามาอย่างนี้เราจะตอบโต้อย่างไร ส่วนการเตรียมตัวเพื่อเป็นตัวแทนเยาวชนของประเทศไปแข่งขันในระดับนานาชาติในเดือนสิงหาคมนี้ ก็จะเน้นเรื่องภาษาเป็นหลัก เพราะต้องไปทำงานร่วมกับเพื่อนๆจากประเทศอื่นๆ พร้อมเชิญชวนให้เยาวชนที่สนใจเรื่องการอกกแบบและสร้างหุ่นยนต์มาสมัครเข้าร่วมแข่งขันในปีหน้า เพราะนอกจากจะได้รับความรู้ด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แล้ว ยังได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆอีกมากมาย
สำหรับทีมชนะเลิศจากการแข่งขัน RDC 2012 จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วม “การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ IDC Robocon 2012” ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว เดนกิ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2555นี้ โดยกลุ่มประเทศที่เข้าร่วม คือ บราซิล สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ โมร็อกโก ญี่ปุ่น และประเทศไทย ความเป็นมาของการแข่งขันรายการนี้คือ เริ่มจัดในปี 1990 โดยประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน IDC Robocon 2007 พร้อมกับส่งทีมตัวแทนนักศึกษาไทยเข้าร่วมแข่งขันครั้งนั้นด้วย และต่อเนื่องมาจนถึงปีที่ 4 แล้วที่นักศึกษาไทยสามารถทำผลงานได้โดดเด่นและประสบความสำเร็จในเวทีระดับนานาชาติ