กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--กรมบัญชีกลาง
“กรมบัญชีกลาง” เผยผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 55 จนถึง 11 พฤษภาคม 2555 ภาพรวมเกินเป้าหมายร้อยละ 2.62 พร้อมเตรียมเสนอผ่อนคลายมาตรการเร่งรัดเบิกจ่าย งบฯ ปี 2555 เพื่อให้เร่งใช้จ่ายงบเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันอุทกภัยแทน
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 เบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมจำนวน 1,353,559.89 ล้านบาท หรือร้อยละ 61.52 เกินกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.62 (เป้าหมายร้อยละ54.25) สำหรับรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้วจำนวน 140,197.08 ล้านบาท หรือร้อยละ 34.38 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 1.63 (เป้าหมายร้อยละ 32.75) และรายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้วจำนวน 1,213,362.81 ล้านบาท หรือร้อยละ 61.52
สำหรับหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายสูงสุดและเกินเป้าหมาย จำนวน 3 แห่ง คือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เบิกจ่ายแล้ว 96,333.53 หรือร้อยละ 77.50 ของงบลงทุนที่รับอนุมัติ รองลงมา คือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช เบิกแล้วจำนวน 656.39 ล้านบาท หรือร้อยละ 52.75 ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกแล้ว 1,311.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.32 ของงบลงทุน ที่ได้รับอนุมัติ
สำหรับผลการเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็ง วงเงินรวมทั้งสิ้น 349,960.44 ล้านบาท มีการจัดสรรแล้ว ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2555 จำนวน 343,401.32 ล้านบาทและเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 309,030.14 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.99 และเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี เป็นเงินงบประมาณ ปี พ.ศ. 2547 — 2554 จำนวนรวมทั้งสิ้น 215,702.91 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 108,864.69 ล้านบาท หรือร้อยละ 50.47
นายรังสรรค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ปี พ.ศ. 2555 โดยให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ เร่งก่อหนี้ผูกพันรายลงทุนทั้งในส่วนของโครงการปีเดียวและโครงการผูกพันให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน หลังจากได้รับจัดสรรงบประมาณ และให้นำผลการเบิกจ่ายเงินตามเป้าหมายกำหนดเป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ด้วย ซึ่งผลการเบิกจ่ายได้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่สำหรับการก่อหนี้ผูกพันรายจ่ายลงทุนให้ทันภายใน 3 เดือน นั้น ปรากฏว่ามีหลายโครงการไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทัน แต่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของทางราชการ ดังนั้น จึงเห็นสมควรเสนอผ่อนคลายมาตรการเร่งรัดดังกล่าว โดยให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่ได้ก่อหนี้ผูกพัน ทั้งที่เป็นโครงการปีเดียวและโครงการผูกพัน ให้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ต่อไป จนกว่าจะเสร็จโครงการ
“สำหรับการเบิกจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย อย่างบูรณาการ จำนวน 120,000 ล้านบาท มีการจัดสรรแล้วจำนวน 119,536.33 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้วจำนวน 55,506.98 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.44 ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายไว้ร้อยละ 100 ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ จากผลการเบิกจ่ายข้างต้นเห็นว่ามีเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน” นายรังสรรค์ กล่าว