กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
เมื่อวันที่ 23 — 27 เมษายน พ.ศ. 2555 นายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจฯ พร้อมด้วย ดร.ขัตติยา รัตนดิลก หัวหน้าส่วนวิจัยและพัฒนา กรมพินิจฯ ร่วมประชุมคู่ขนานของการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 21 ( The 21st Session of the Commission on Crime Prevention and Criminal Justice {CCPCJ}) จัดโดย International Juvenile Justice Observatory (IJJO) และ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
สำหรับการประชุมคู่ขนานได้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “สุขภาพจิตเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม:ประเด็นท้าทายสำหรับระบบสาธารณสุขและกระบวนการยุติธรรม” ซึ่ง ดร.ขัตติยา รัตนดิลก หัวหน้าส่วนวิจัยและพัฒนา กรมพินิจฯ ได้บรรยายร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ เรื่องการดูแลปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
สำหรับการจัดประชุมดังกล่าวมีสาระสำคัญความว่า ปัจจุบันการตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมถือเป็นเรื่องใหม่ โดยมีผลจากการศึกษาวิจัยในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด พบว่า 95% ของเด็กที่ถูกดำเนินคดี มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างน้อย 1 ด้าน และ 80% มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างน้อย 2 ด้าน* ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเกิดการตื่นตัว และจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและ หาแนวทางในการจัดการปัญหาความจำเป็นโดยเร่งด่วน เนื่องจากพบว่าเด็กหรือเยาวชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตจะมีปัญหาในการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู
ในส่วนของประเทศไทย ดร.ขัตติยา รัตนดิลก ได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาเครื่องมือและขั้นตอนการหาข้อเท็จจริงโดยการประเมินปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยจำเป็นของเด็กและเยาวชนที่สามารถค้นหาสภาพปัญหาความจำเป็นรายบุคคลเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูได้อย่างครอบคลุม นำไปสู่การพัฒนาแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม ทั้งประเด็นปัญหาพฤติกรรมและปัญหาสุขภาพจิต
กรมพินิจฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงได้มีบุคลากรที่เป็นสหวิชาชีพอยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ แต่ยังขาดทักษะและความเชี่ยวชาญด้านการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟูทางสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนรายบุคคล และรายกลุ่ม รวมถึงการขาดโปรแกรมที่มีความหากหลายที่จะตอบสนองต่อลักษณะปัญหา ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาสุขภาพจิตที่พบในเด็กและเยาวชนได้ดียิ่งขึ้น
* Lader,D,Singleton,N. & Meltzer,H.(2000)
ทั้งนี้ ประเทศไทยโดยกรมพินิจฯ จะเป็นเจ้าภาพในการประชุมสภากระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ระดับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ครั้งที่ 1 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 — 15 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป กรุงเทพฯ โดยจะได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยและประเด็นการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคการศึกษาและภาคเอกชน ผู้ทำงานด้านเด็กทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ