กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--กรีนพีซ
ตะกอนดินในห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรียังคงปนเปื้อนสารตะกั่วอย่างรุนแรงพบแนวโน้มการกระจายตัวของสารตะกั่วลงมาตามสายน้ำมากขึ้นจากเดิมขณะภาครัฐยังคงล่าช้าในการแก้ไขฟื้นฟู โดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาและตัวแทนชุมชนหมู่บ้านคลิตี้ล่างร่วมออกแถลงการณ์กรณีปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้(1)จี้กรมควบคุมมลพิษต้องรับผิดชอบฟื้นฟูด่วน ระบุถือเป็นกรณีศึกษาอย่าปล่อยให้ประชาชนต้องแบกรับภาระแทนผู้ก่อมลพิษอีก
ผลศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้และดิน(2) ที่เก็บเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 โดยหน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบสารตะกั่วปนเปื้อนในตะกอนดินบริเวณพื้นผิวมากทุกตัวอย่าง คือประมาณ 3,384 มก./กก.-4,363 มก./กก. ซึ่งมากกว่าค่าพื้นฐานที่พบได้ตามธรรมชาติ(3) (4)ประมาณ 113 -145 เท่า และมากกว่าปริมาณที่ส่งผลรุนแรงต่อระบบนิเวศตามที่บางประเทศได้กำหนดมาตรฐานไว้(5)ประมาณ 6-8 เท่า นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนสารตะกั่วในดินบริเวณที่เคยเป็นที่ถูกน้ำท่วมจากลำห้วยในปริมาณสูงถึง 3,906 มก./กก.หรือมากกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพดินของประเทศไทย(6)ที่กำหนดไว้สูงสุดประมาณ 5 เท่าโดยที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาใดตรวจพบสารตะกั่วในดินบริเวณหมู่บ้านสูงถึงขนาดนี้มาก่อน
“การปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ส่งผลรุนแรงต่อระบบนิเวศ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จากภาครัฐที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม กรณีนี้เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมที่มลพิษอุตสาหกรรมถูกผลักมาให้ประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระทั้งผลกระทบด้านสุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไปและเงินภาษีในการแก้ไขปัญหา(7) ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมต้องตระหนักว่าการป้องกันมลพิษเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมและชีวิตประชาชนปลอดภัย” พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
"หลังการต่อสู้ของชุมชนคลิตี้ล่างผ่านไป 14 ปี ขณะนี้ยังไม่มีการขุดลอกตะกอนตะกั่วหรือฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม ชุมชนยังคงไม่ได้รับความปลอดภัยจากสารพิษ และไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการใช้น้ำและจับสัตว์น้ำในลำห้วยได้ดังเดิม พวกเราทุกคนอยากให้ลำห้วยคลิตี้กลับมาเป็นดังเดิม" กำธร ศรีสุวรรณมาลา ตัวแทนชุมชนคลิตี้ล่าง กล่าว
ทั้งนี้ การฟ้องคดีปกครองในปีพ.ศ. 2547ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในปีพ.ศ. 2551 ว่า กรมควบคุมมลพิษปฎิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูการปนเปื้อนสารตะกั่ว(1)ในห้วยคลิตี้ล่าช้าเกินสมควร ทางกรมควบคุมมลพิษจึงทบทวนแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยจากเดิมที่จะปล่อยให้ลำห้วยฟื้นฟูเองโดยธรรมชาติ แต่แล้วภายหลังเมื่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำพิพากษาในคดีแพ่งว่าบริษัทเอกชนมีหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยกรมควบคุมมลพิษจึงยกเลิกแผนการทบทวนแนวทางดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เกรงจะขัดคำพิพากษาของศาล จึงนำไปสู่การไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาใดๆ
แม้ในเวลาต่อมาจะมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีเดียวกันว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บริษัทเอกชนฟื้นฟูลำห้วย เนื่องจากตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ แต่จนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากการทำฝายหินดักตะกอน 2 แห่งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 เพื่อดักตะกอนและชะลอไม่ให้มีการกระจายตัวแล้ว กรมควบคุมมลพิษก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ ต่ออีกเลย ซึ่งการศึกษาติดตามการปนเปื้อนล่าสุดระบุว่าฝายหินดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขป้องกันปัญหาได้
สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า “กรณีคลิตี้ เป็นตัวอย่างของความไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจนของประเทศไทย แม้ว่าคำพิพากษาศาลจะยืนยันสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องมาตลอด คือ บริษัทเป็นผู้ปล่อยมลพิษ และกรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยล่าช้าเกินสมควรแล้ว แต่กรมควบคุมมลพิษเองก็ยังไม่ทำหน้าที่ ทำให้เห็นว่า แม้จะเป็นกรณีปัญหาในพื้นที่เล็ก ๆ โรงงานเดียว และชัดเจนว่าปล่อยมลพิษจริง ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แล้วกรณีที่ใหญ่ขึ้น อย่างเช่นมาบตาพุด ประชาชนคงไม่สามารถหวังอะไรจากหน่วยงานรัฐได้เลย”
ด้านสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ก็เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ ทำหน้าที่ของตนเอง โดยการกำจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ และแม่น้ำแม่กลองให้หมด เพราะมลพิษเหล่านี้ได้ทยอยไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลองและอ่าวไทย “เคยมีรายงานการศึกษาในอดีตที่พบว่าน้ำในแม่น้ำแม่กลองที่ออกจากเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณตะกั่วเกินค่ามาตรฐานถึง 4 เท่า และน้ำเหล่านี้ได้ผันไปเป็นน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีใช้ ดังนั้นรัฐจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านคลิตี้และชาวไทย ต้องเจ็บป่วย และตายอย่างผ่อนส่งอีก”
กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธีนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ
ข้อมูลแนบท้าย
(1) จากปัญหาดังกล่าวที่ยังคงค้างมากว่า 14 ปี ชุมชนคลิตี้ล่างและภาคีเครือข่ายฯ จึงได้ออกแถลงการณ์ (7) เรียกร้องต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. ให้กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้อย่างเร่งด่วนโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชนคลิตี้ล่าง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แหล่งน้ำ ตะกอนดินและห่วงโซ่อาหารปลอดจากการปนเปื้อนสารตะกั่ว และชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้ดังเดิม
2. ให้กรมควบคุมมลพิษเรียกร้องค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าเสียหายต่างๆ ที่จะใช้สำหรับการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากผู้ที่ก่อมลพิษ
3. ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นำกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วห้วยคลิตี้เป็นบทเรียนสำหรับบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ และข้อคำนึงต่อการอนุญาตโครงการอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นต้นทุนที่แท้จริงของการทำอุตสาหกรรมที่ก่อผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายในการเยียวยา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ที่ประชาชนกลับต้องเป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าวแทนผู้ก่อมลพิษ
4. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ เร่งกำหนดและประกาศใช้มาตรฐานคุณภาพตะกอนดินเพื่อใช้เป็นค่าอ้างอิงระดับการปนเปื้อนสารพิษ การติดตามตรวจสอบพื้นที่เสี่ยง การป้องกันเหตุ การประกาศเตือน และการดำเนินการฟื้นฟูแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนสารพิษในตะกอนดินได้อย่างทันท่วงที
สามารถดาวน์โหลดแถลงการณ์: กรณีปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/coalition-statement-on-klity-creek-pollution
(2) ผลศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้และดิน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 โดยหน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/a-study-of-sendimeny-samples-klity-creek
(3) Toxicological profile, United States Public Health Service, Agency for Toxic Substances and Disease Registry (ATSDR 2007), (2004), published in the Royal Government Gazette, Vol. 121 special part 119D, dated
(4) ตะกั่ว (Lead; Pb) เป็นโลหะที่สามารถพบได้ในธรรมชาติในปริมาณต่ำโดยเฉพาะบริเวณที่ไม่มีกิจกรรมของมนุษย์ ตะกอนก้นน้ำจากแหล่งน้ำจืดที่ไม่ปนเปื้อนมีปริมาณตะกั่วต่ำกว่า 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ATSDR 2007) ตะกั่วเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงต่อมนุษย์ และไม่พบว่ามีประโยชน์ในแง่ของโภชนาการของทั้งพืชและสัตว์ (ATSDR 2007, Adams & Chapman 2006, WHO 1989) หากได้รับตะกั่วสู่ร่างกายซ้ำๆ แม้ปริมาณต่ำก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบประสาท โดยเฉพาะการเจริญของระบบประสาทในเด็ก ระบบเลือด ไต และระบบสืบพันธุ์ได้ (ATSDR 2004, Jusko et al. 2008, Sanders et al. 2009) มีบางรายงานระบุว่าอาจไม่มีระดับความเข้มข้นของตะกั่วที่ปลอดภัย โดยเฉพาะผลที่จะเกิดกับระบบประสาทส่วนกลางของมนุษย์ (Canfield et al. 2003)
(5) Netherlands standard- Threshold levels for seriously contaminated sediments in the Netherlands (NMHSPE, 2000)
(6) ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพดิน ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121แบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์
- มาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม
- มาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอื่นนอกเหนือจาก การอยู่อาศัยและเกษตรกรรม
(7) จากรายงาน “ผลลัพธ์ที่ซ่อนเร้น: ความเสียหายจากมลพิษทางน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมต่อประชากร โลก และผลประโยชน์” กรีนพีซสากล 2554
http://www.greenpeace.org/seasia/th/Global/seasia/report/2011/hidden-consequences.pdf