บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 16, 2012 10:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--สหวิริยาสตีลอินดัสตรี - รายได้รวมรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 15,742 ล้านบาท - ยอดขาย HRC กลับมาเป็นปกติ แต่มีภาระค่าใช้จ่ายก่อนผลิตธุรกิจโรงถลุง ไตรมาส 1/2555 มีผลขาดทุนรวม2,841 ล้านบาท - ปริมาณการผลิต HRC สะสมครบ 26 ล้านตันเป็นรายแรกของประเทศไทย - โรงงานเอสเอสไอทีไซด์ผลิตเหล็กแท่งแบนแล้วเมื่อ 18 เมษายน เสริมยอดขายบริษัทตั้งแต่มิถุนายนนี้ - เป้าผลิตเหล็กแท่งแบนปีนี้ 2.2 ล้านตัน ยอดขายHRC 2.2 ล้านตัน - โครงการ PCI ที่จะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงเริ่มใช้งานได้ภายในไตรมาส1 /2556 - แนวโน้มปริมาณบริโภคเหล็กฟื้น อุตสาหกรรมต่อเนื่องกลับมาผลิตเต็มกำลัง บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่1 ปี 2555 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 15,742 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้รวมไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21จากไตรมาส 4/2554 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 13,008 ล้านบาท และ 12,016 ล้านบาท ตามลำดับ และ มีผลขาดทุนสุทธิ 2,841 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 2,376 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2554 และกำไรสุทธิ 5,525 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2554 ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน มีผลกำไรสุทธิ 7 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 325 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2554 และกำไรสุทธิ 542 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2554 โดยมีรายได้จากการขายรวม 11,584 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากไตรมาส 4/2554 และลดลงร้อยละ 3 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และสามารถผลักดันการขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Products) มีสัดส่วนร้อยละ 42 จากยอดขายรวม ทั้งนี้ ในวันที่ 19 มีนาคม บริษัทบรรลุปริมาณผลิต HRC สะสมถึง 26 ล้านตันเป็นรายแรกของประเทศไทย ธุรกิจโรงถลุงเหล็ก มีผลขาดทุนสุทธิ 2,849 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 1/2555 โรงงานเอสเอสไอทีไซด์ยังไม่มีการผลิตเหล็กแท่งแบนทำให้เกิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,907 ล้านบาทและมีธุรกิจที่มีรายได้เพียงธุรกิจเดียวคือ ธุรกิจโค้ก มีรายได้จากการผลิตโค้ก การขายโค้ก 275 พันตัน และการรับจ้างผลิตโค้ก รวมถึงรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์พลอยได้อื่นๆ ประมาณ 4,085 ล้านบาท อย่างไรก็ตามโรงถลุงเหล็กได้เริ่มจุดเตาถลุงในวันที่ 15 เมษายน และสามารถผลิตเหล็กแท่งแบนแท่งแรกตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 ธุรกิจท่าเรือน้ำลึก มีผลกำไรสุทธิ 27 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการให้บริการรวม 28 ล้านบาทลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันเมื่อปีก่อน เนื่องจากปริมาณสินค้าผ่านท่าลดลง คาดว่าจะกลับมาดีหลังจากที่อุตสาหกรรมเหล็กกลับมาฟื้นตัว รวมถึงการขยายธุรกิจของกลุ่มเอสเอสไอหลังจากโรงงานเอสเอสไอทีไซด์เริ่มผลิตเหล็กแท่งแบนส่งมายังโรงงานเอสเอสไอบางสะพาน ธุรกิจวิศวกรรมและซ่อมบำรุง มีผลกำไรสุทธิ 5 ล้านบาท มีรายได้จากการให้บริการวิศวกรรมและงานโครงการจากลูกค้าในและต่างประเทศ 45 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายงานวิศวกรรมบริการขั้นสูงแก่ลูกค้ารายใหม่ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัทยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมทุนใน ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดเย็น 19 ล้านบาทนายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอสไอ กล่าวว่า "ผลประกอบการ ของบริษัทฯในไตรมาส 1/2555 เป็นไปตามคาด ยอดขายรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 15,742 ล้านบาท และมีขาดทุน สุทธิ 2,841 ล้านบาทซึ่งสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายในส่วนที่อยู่ระหว่างเตรียมการผลิตที่โรงถลุงเหล็กอังกฤษ ในส่วนของธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน บริษัทสามารถผลักดันปริมาณขายกลับมาเป็นปกติที่ 497 พันตันและเป็นรายได้ถึง 11,584 ล้านบาท ถึงแม้ว่าการฟื้นตัวหลังมหาอุทกภัยของภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างจะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ก็ตาม ขณะที่ค่าการรีดอยู่ในระดับตํ่าตามคาดที่ประมาณ 91 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ ต้นทุนสูงที่ซื้อไว้ในไตรมาส 3/2554 ตั้งแต่ก่อนนํ้าท่วม ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับเป้าหมายการขายเหล็กแผ่นรีดร้อนของเอสเอสไอปี 2555 อยู่ที่ 2.2 ล้านตัน ในส่วนของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก บริษัทยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงโรงถลุงและยังไม่มีการผลิตเหล็กแท่งแบนในไตรมาส 1 จึงมีเพียงรายได้จากธุรกิจโค้ก 4,085 ล้านบาท แต่บริษัทยังต้องแบกภาระผลขาดทุนจากค่าใช้จ่ายโรงงานในส่วนที่อยู่ระหว่างเตรียมการผลิตประมาณ 1,907 ล้านบาท ทำให้ไตรมาสแรกยังขาดทุนอยู่สุทธิ 2,849 ล้านบาท ทั้งนี้ ข่าวดีก็คือโรงงานเอสเอสไอทีไซด์เริ่มผลิตเหล็กแท่งแบนแล้วในกลางเดือนเมษายน ซึ่งจะทำให้ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการผลิตหมดไป และจะสามารถเข้ามาเสริมยอดขายของเอสเอสไอนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยเหล็กแบนที่ผลิตได้ 2 ใน 3 จะส่งมาเป็นวัตถุดิบโรงงานเอสเอสไอบางสะพาน ที่เหลือจะขายให้กับผู้ใช้รายอื่นในต่างประเทศซึ่งได้ติดต่อเข้ามาขอซื้อแล้วหลายราย สำหรับธุรกิจท่าเรือน้ำลึกนั้น โครงการเครนหน้าท่าPPC ติดตั้งเสร็จพร้อมใช้งานแล้วตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 รวมทั้งได้ผ่านการทดสอบการยกขนจนเป็นที่พอใจ ทำให้บริษัทฯมั่นใจว่า โครงการนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนถ่ายเหล็กแท่งแบนและผลิตภัณฑ์เหล็กอื่นๆ ซึ่งตามแผนจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ประมาณ 7.5 เหรียญสหรัฐฯต่อตันจากการใช้เรือขนาด Panamax ขึ้นไป” นายวินกล่าวว่า “การเปิดดำเนินการที่ล่าช้าจากแผนเดิมมา 6 เดือนนั้น เกิดจากการตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมปรับปรุงโรงถลุงเหล็กเพื่อยืดอายุการใช้งานไปอีกประมาณ 20 ปี แทนที่จะต้องหยุดผลิตเพื่อซ่อมเตาเป็นเวลา 6 เดือนในเวลา 6 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทฯมั่นใจว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและจะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเราในระยะยาว ทั้งนี้บริษัทจึงได้ปรับเป้าหมายการผลิตเหล็กแท่งแบนในปี 2555 คือ 2.2 ล้านตัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับ 3.6 ล้านตันต่อปีในปี 2556 ส่วนอุปกรณ์ Pulverized Coal Injection (“PCI”) ที่จะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ประมาณ 30 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน จะเริ่มใช้งานได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2556” สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กโลกมีแนวโน้มของการฟื้นตัวในครึ่งแรกของปี 2555 และคาดว่าจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2555 ทั้งนี้ World Steel Association ประมาณการว่าความต้องการเหล็กโลกจะเติบโตขึ้น 4.5% เป็น 1,486 ล้านตัน ในปี 2556 ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศในปีนี้คาดว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยจะเริ่มกลับมาทำการผลิตได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเริ่มกลับมาผลิตมากขึ้นและยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยที่คาดว่า ถึงแม้ไตรมาส 2/2555 จะมีผลกระทบเชิงฤดูกาลจากวันหยุดสงกรานต์ แนวโน้มความต้องการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี โดยจะขยายตัวประมาณ 7-8% ในปีนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ