กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--บีโอไอ
การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย โดยยอดคำขอรับส่งเสริมขยายตัวร้อยละ 21 มูลค่าเงินลงทุนขยายตัวร้อยละ 44 ส่วนใหญ่เป็นการขยายการลงทุนของกิจการเดิม ญี่ปุ่นนั่งแท่นขอลงทุนสูงสุด 228 โครงการ บีโอไอเผย คณะนักลงทุนต่างชาติเข้าพบเพื่อขอคำปรึกษาจากบีโอไอมากกว่า 23 คณะ
นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ช่วง 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2555) ว่า ต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 407 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 155,489 ล้านบาท โครงการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 336 โครงการ ในขณะที่เงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 108,027 ล้านบาท
ทั้งนี้ความสนใจเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 59 จากการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากเอฟดีไอทั้งหมด เป็นการขยายการลงทุนจากกิจการเดิมที่ได้ลงทุนอยู่แล้ว โดยมีจำนวน 240 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 113,099 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ มีทั้งสิ้น 167 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 42,390 ล้านบาท
อุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุด อยู่ในกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า 94 โครงการ เงินลงทุน 51,090 ล้านบาท รองมาเป็นผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 131 โครงการ เงินลงทุน 37,336 ล้านบาท กิจการเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก 60 โครงการ เงินลงทุน 22,188 ล้านบาท กิจการบริการและสาธารณูโภค 72 โครงการ เงินลงทุน 17,616 ล้านบาท และเกษตรกรรมและผลิตผลทางการเกษตร 18 โครงการ 13,469 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับ ประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงสุดในช่วง 4 เดือน ยังเป็นประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนทั้งสิ้น 228 โครงการ เงินลงทุน 93,068 ล้านบาท รองมาเป็นประเทศมาเลเซีย 12 โครงการ เงินลงทุน 10,746 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 17 โครงการ เงินลงทุน 9,116 ล้านบาท เนเธอแลนด์ 11 โครงการเงินลงทุน 9,808 ล้านบาท ฮ่องกง 9 โครงการ เงินลงทุน 5,463 ล้านบาท ตามลำดับ
“การลงทุนจากต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา กระจายอยู่ในโครงการลงทุนทุกขนาดกิจการ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของไทย โดยเฉพาะในส่วนของกิจการที่มีอยู่แล้ว ที่ยังเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มั่นใจจะส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่ 6000,000 ล้านบาท” นางหิรัญญา กล่าว
นอกจากนี้ บีโอไอยังพบว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีคณะนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศ เดินทางมาเข้าพบเพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนโอกาสและลู่ทางการลงทุน ในประเทศไทย เป็นจำนวนถึง 23 คณะ จากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ สวีเดน อินโดนีเซีย โปแลนด์ เป็นต้น