กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--มายแบรนด์ เอเจนซี่
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้สนับสนุนโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปิดภาคฤดูร้อนของนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลน การสนับสนุนโครงการนี้นับเป็นหนึ่งในนโยบายของเชฟรอนในการสนับสนุนการศึกษาและส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน ได้มีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลให้กับประเทศ และได้ปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้กับเยาวชนจำนวนมาก
ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ของค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อนที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งและป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต นิสิตนักศึกษาที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลทั่วประเทศผู้ซึ่งผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจำนวน 30 คน ได้เรียนรู้ทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนกลไกและกระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นในทะเล เพื่อให้เกิดความรู้ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลอย่างรอบคอบและยั่งยืน รวมถึงเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศวิทยาทางทะเล ผ่านทางกิจกรรมต่างๆ อาทิ การสำรวจบริเวณป่าชายเลน และการดำน้ำเพื่อเก็บตัวอย่างทางทะเลไปทำการศึกษา
นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า
“ตลอดระยะเวลา 50 ปี ของการทำธุรกิจในประเทศไทย เชฟรอนมุ่งมั่นในการพัฒนา “พลังคน” อันเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความตั้งใจจริงของเชฟรอน ในการสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาตร์ทางทะเลที่ปัจจุบันยังต้องการทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพอีกมากเพื่อพัฒนาการศึกษาและความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ ค่ายนิเวศวิทยาภาคฤดูร้อนดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 20 ปี แล้ว และจะเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเพื่อจุดประกายจิตสำนึกการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของเราให้คนรุ่นใหม่ต่อไป”
ผศ. ดร. ปิติวงษ์ ตันติโชดก ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผู้ริเริ่มโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน กล่าวว่า “โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อนได้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา ทั้งที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล สาขาประมง และสาขาอื่นๆ ที่มีความสนใจทางด้านนี้ ได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ จากเมื่อ 20 ปี ที่แล้วจนกระทั่งวันนี้ มีนิสิตนักศึกษาให้ความสนใจค่ายนี้มากขึ้นจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล นี่เป็นโอกาสอันดี ที่พวกเขาจะได้เห็นสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลของจริงจากที่เคยเรียนแต่ในตำรา ผมภูมิใจที่ได้เห็นเด็กค่ายของเราจำนวนมาก ได้เติบโตและศึกษาต่อ จนกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย และมีเด็กหลายคน ที่แม้ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ก็ได้นำความรู้และความรักต่อท้องทะเลที่ได้ ไปเผยแพร่ต่อและใช้ในสาขาอาชีพของตนเอง หากไม่มีเชฟรอนประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี โครงการดีๆ เช่นนี้อาจจะไม่สามารถดำเนินมาได้ยาวนานถึง 2 ทศวรรษ ผมหวังว่าความร่วมมือในโครงการนี้จะดำเนินต่อไปในอนาคต”
นางสาวภัทรศยา สุขพานิช (ทราย) นักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิทยาศาสตร์การประมง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “ค่ายครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากค่ะ การได้ลงพื้นที่จริงๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนที่เรียนสาขาการประมงมาก เพราะสิ่งมีชีวิตเซลล์สดที่เราพบได้ตามท้องทะเลนั้น แตกต่างจากเซลล์ดองฟอร์มาลีนที่ใช้ศึกษาในห้องเรียนอย่างมาก ในทริปนี้ ทรายได้เก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต เพื่อนำไปดองไว้ให้น้องๆ รุ่นต่อไปศึกษาด้วยค่ะ”
ด้านนายปรเมศวร์ ตรีวลัยรัตน์ (ไผ่) นักศึกษาภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “ถึงผมจะไม่ได้เรียนทางด้านการประมงมา แต่พอมาค่ายนี้แล้วผมได้ความรู้มากมาย ได้ประสบการณ์ตรง และได้เพื่อนใหม่ เรื่องชีววิทยาทางทะเลก็กลายเป็นสิ่งที่ผมสนใจ หลายๆ คนในมหาวิทยาลัยของผมเป็นเหมือนหนอนหนังสือ ท่องตำราอย่างเดียว เรียนอย่างเดียว แต่การได้มาเห็นของจริงจากฝั่งทะเลอันดามัน ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมายครับ”
ตลอด 50 ปี ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญด้านการศึกษา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมของพนักงาน ซึ่งโครงการนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อนนี้ จะช่วยสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนไทยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยอย่างยั่งยืน