กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--สำนักงานสถิติแห่งชาติ
นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ข้อมูลสถิติและสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อทั้งภาครัฐและเอกชนในการวางแผน กำหนดนโยบายและติดตามประเมินผลการพัฒนาในทุกระดับ ทั้งระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับท้องถิ่น การใช้ข้อมูลสถิติและสารสนเทศที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และทันต่อสถานการณ์จะทำให้ได้องค์ความรู้ที่มั่นใจได้ว่ารัฐสามารถนำไปกำหนดทิศทางการพัฒนาได้แม่นยำมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนก็สามารถใช้สถิติและสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการจัดทำแผนพัฒนาการลงทุนขยายตลาดให้เติบโตยิ่งขึ้น และยังใช้เปรียบเทียบการประกอบกิจการของตนเองกับธุรกิจอื่น ๆ ไปจนถึงระดับประเทศและภูมิภาคได้เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า สสช. จัดเสวนา ครั้งนี้ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งเพื่อเปิดเวทีรับฟัง แลกเปลี่ยน ความคิดเห็น และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทุกท่าน ในฐานะที่จะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูล โดยในการทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมครั้งนี้ อยู่ในขั้นที่ 2 เป็นการเก็บรายละเอียด หรือที่เรียกว่า “การแจงนับ” (Enumeration) โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2554 สสช. ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลพื้นฐาน หรือเรียกว่า “การนับจด” (Listing) ไปแล้ว พบว่าทั่วประเทศมีผู้ประกอบธุรกิจการค้า การบริการ การผลิต และการก่อสร้าง จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.25 ล้านแห่ง มีคนทำงานประมาณ 10.2 ล้านคน ประกอบด้วย ธุรกิจขนาดเล็กที่มีคนทำงาน 1-15 คน ถึง 97% มีเพียง 3% เท่านั้นที่มีคนทำงาน 16 คนขึ้น ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.nso.go.th
ขณะนี้ สสช. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ คือ “มาดี” ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการทั่วประเทศแล้วเพื่อสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบการในปีที่ผ่านมา แต่หากผู้ประกอบการรายใดไม่สะดวก จะเลือกตอบทางอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำได้ ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม นี้
สำหรับประเภทธุรกิจที่เข้าข่ายการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ธุรกิจการค้า การบริการและอุตสาหกรรมการผลิต (ยกเว้น หาบเร่ แผงลอย)โดยที่ธุรกิจขนาดเล็กที่มีคนทำงานไม่เกิน 10 คน จะเก็บข้อมูลเฉพาะรายที่ถูกเลือกเป็นตัวอย่างเท่านั้น ส่วนธุรกิจที่มีคนทำงานตั้งแต่ 11 คนขึ้นไป จะเก็บข้อมูลทุกแห่ง
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสามารถตอบประเด็นของการเสวนาได้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการเป็นผู้ให้ (ข้อมูล) โดยทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือภาครัฐ ภาคเอกชน จะเป็นผู้รับ (ประโยชน์) จากฐานข้อมูลด้านธุรกิจที่เกิดจากการมีส่วนร่วม และโดยมีเป้าหมายที่จะให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นายวิบูลย์ทัต กล่าวย้ำ