กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี
***การย้ายศูนย์กลางเศรษฐกิจไปสู่ตลาดเกิดใหม่จะเกิดเร็วขึ้น***
***หุ้นตลาดเกิดใหม่มีโอกาสเติบโตดี และได้อานิสงส์จากเงินแข็งค่า***
เอชเอสบีซี โกลบอล แอสเซท แมเนจเมนท์ เผยภาพรวมเศรษฐกิจโลกในวารสารการลงทุนรายไตรมาสล่าสุด ระบุว่า ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น รายได้บริษัทจดทะเบียนในตลาดที่เติบโตดี และนโยบายธนาคารกลางที่เริ่มผ่อนคลาย ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีแนวโน้มสดใสในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดพัฒนาแล้วในตะวันตกยังคงมีหลายปัจจัยที่น่ากังวล รวมถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินนโยบายปรับลดรายจ่ายของภาครัฐ การออกมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดมูลค่าหนี้สินระยะหลายปี และราคาน้ำมันที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูง
สำหรับความแตกต่างของการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างตลาดพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ยังมีอัตราที่ห่างกัน และคาดว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป โดยในไตรมาสที่ผ่านมา ได้มีมีการปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2555 ลงเล็กน้อยไปอยู่ที่อัตราร้อยละ 2.6 เทียบกับร้อยละ 2.7 ของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และยูโรโซน ก็มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มมองว่ามีการฟื้นตัว โดยมีการปรับเพิ่มอัตราการเติบโตไปอยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากร้อยละ 2.1 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
มร. ฟิลิป พูล ผู้อำนวยการบริหารระดับโลก ฝ่ายกลยุทธ์มหภาคและการลงทุน บริษัท เอชเอสบีซี โกลบอล แอสเซท แมเนจเมนท์ เปิดเผยว่า “เอชเอสบีซี โกลบอล แอสเซท แมเนจเมนท์ สนใจลงทุนในหุ้นมากกว่าพันธบัตร เนื่องจากมีโอกาสได้รับอัตราเงินปันผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนจากพันธบัตร บริษัทฯ คิดว่าพอร์ตหุ้นควรจะกระจายไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่เนื่องจากเป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตสูง และมีโอกาสที่เงินสกุลท้องถิ่นจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ของโลก”
มร. พูล กล่าวต่อว่า ความท้าทายที่นักลงทุนยังต้องเผชิญต่อไปในปีนี้ มีแนวโน้มจะสร้างความผันผวนในตลาด แต่ก็อาจช่วยสร้างโอกาสในการลงทุนได้เช่นเดียวกัน โดยเราจะยังคงใช้กลยุทธ์บริหารพอร์ตการลงทุนแบบเชิงรุกในระดับปานกลาง เพื่อหาผลตอบแทนจากตลาดในระยะสั้น ขณะเดียวกันก็ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังและเป้าหมายระยะยาวของลูกค้าด้วย
“บริษัทฯ เชื่อว่าวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2551/2552 เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราก้าวต่อไปสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ ในโลกยุคหลังวิกฤตินี้ การย้ายศูนย์กลางเศรษฐกิจจากประเทศอุตสาหกรรมไปยังตลาดเกิดใหม่จะเกิดเร็วขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ยังคงมีอัตราเติบโตที่ดีซึ่งต่างจากอัตราเติบโตของตลาดพัฒนาแล้ว ซึ่งจะโตช้าเนื่องจากปัญหาวิกฤติหนี้ ด้วยภาระหนี้ในตลาดเกิดใหม่ที่ไม่ได้สูงมาก และสัดส่วนประชากรที่เป็นวัยทำงานเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เติบโตได้ดี” มร. พูลกล่าว
สำหรับวารสารการลงทุนประจำไตรมาสนี้ให้ความสนใจเศรษฐกิจอินเดีย โดยระบุว่า อัตราการเติบโตของจำนวนประชากรและรายได้เฉลี่ยต่อคนของประเทศอินเดีย ผนวกกับความเจริญอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง สะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในระยะกลาง ซึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดียในปีที่ผ่านมาไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อชะลอการเติบโตเศรษฐกิจและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
ด้านมร. บิล มัลโดนาโด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการลงทุน ประจำเอเชียแปซิฟิก และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้น บริษัท เอชเอสบีซี โกลบอล แอสเซท แมเนจเมนท์ กล่าวว่า การเติบโตของภูมิภาคเอเชียทำให้เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่มีการขยายตัว และมีมูลค่าหุ้นลดลงทั้งที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางบริษัทฯ จึงมองว่าตลาดหุ้นเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ในระยะ 12 เดือนยังเป็นตลาดที่น่าลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นอินเดีย ซึ่งจากการประเมินมูลค่าหุ้น พบว่า หุ้นมีมูลค่าต่ำกว่ารายได้ล่วงหน้าเฉลี่ย 5 ปี และ 10 ปี แต่นักลงทุนจำเป็นต้องมองภาพในระยะยาว เนื่องจากตลาดยังคงมีแนวโน้มผันผวน ส่วนหุ้นจีนและหุ้นที่มีผลกำไรเปลี่ยนแปลงตามวงจรธุรกิจ เช่น หุ้นที่ขึ้นลงตามความต้องการของผู้บริโภค คาดว่าจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีบนพื้นฐานของมูลค่าหุ้น และความสามารถในการทำกำไร
นอกจากนี้ วารสารการลงทุนรายไตรมาส ยังให้ความสนใจในตลาดพันธบัตรสกุลเงินหยวนที่กำลังเติบโตด้วย โดยมองว่าเป็นการลงทุนที่ดีสำหรับนักลงทุนระดับโลกด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรก คือ สามารถลงทุนด้วยเงินหยวน ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีโอกาสแข็งค่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประการที่สอง คือ ตลาดพันธบัตรเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่มีคุณภาพและน่าสนใจ เนื่องจากมีระยะเวลาการลงทุนที่สั้น และเป็นตลาดที่มีคุณภาพที่ให้ผลตอบแทนสูง บริษัท เอชเอสบีซี โกลบอล แอสเซท แมเนจเมนท์ เชื่อว่า ภายในปี 2555 นี้ มูลค่าตลาดพันธบัตรสกุลเงินหยวนจะเติบโตขึ้นเป็นสองเท่า
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606