กองทัพเรือ แนะนำข้อควรปฏิบัติของเรือประมง

ข่าวทั่วไป Wednesday January 12, 2005 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ในการนำเรือออกทะเลของเรือประมงทุกครั้ง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการพยากรณ์อากาศ เนื่องจากเมื่อออกเรือไปแล้ว ชีวิตจะฝากไว้กับเรือและท้องทะเล ซึ่งเรามีวิธีการพยากรณ์อากาศแบบง่าย ๆ โดยอาศัยสิ่งบอกเหตุ ดังนี้
๑. ถ้าเห็นนกนางนวลบินว่อนออกจากฝั่งสู่ทะเล แสดงว่า วันนั้นอากาศดี แต่ถ้าเห็นนกนางนวลบินกลับเข้าหาฝั่ง แสดงว่าพายุกำลังจะเข้ามา
๒. ถ้าเห็นนกนางแอ่นบินร่อนอยู่กลางทะเลสูง ๆ แสดงว่าอากาศดี ถ้านกนางแอ่นบินต่ำ แสดงว่าอากาศไม่ดี มีพายุเข้ามา
๓. ถ้าได้ยินเสียงฟ้าร้องคร่ำครวญ แสดงว่าอากาศไม่ค่อยดี
๔. ถ้าเห็นรุ้งกินน้ำในเวลาเช้าเราชาวเรือระวังภัย ถ้าเห็นรุ้งกินน้ำในเวลาเย็น เราชาวเรือดีใจ เพราะอากาศดี
แต่เพื่อความถูกต้องแม่นยำควรตรวจสอบจากข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้เมื่อออกเรือไปแล้วยังมีข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ดังนี้
- เมื่อเรือออกทะเล ให้เปิดเครื่องรับวิทยุมดดำรับฟังตลอดเวลา โดยใช้ช่อง ๒๑ C
- เมื่อต้องการเปลี่ยนไปใช้ช่องที่ได้ทำความตกลง และนัดหมายกัน แล้วทำการติดต่อสื่อสาร เมื่อเรียบร้อยแล้วให้เปลี่ยนไปรับฟังข่าวสารทางช่อง ๒๑ C ตามเดิม
- เมื่อมีเหตุการณ์หรือภัยพิบัติเกิดขึ้น ให้เปลี่ยนไปใช้ช่อง ๑๑ C ทันที แล้วรายงานเหตุการณ์หรือภัยพิบัตินั้นให้เรือรบหรือศูนย์วิทยุประมง ฯ ทราบ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
- ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อกับเรือรบ หรือศูนย์วิทยุประมง ฯ ทางช่อง ๑๑ C ได้เนื่องจากอยู่พ้นรัศมีการติดต่อสื่อสารให้เปลี่ยนไปใช้ช่อง ๒๑ C รายงานแทนได้ เพราะอาจมีเรือประมงที่อยู่ในทะเลด้วยกันสามารถฟังรายงานเหตุการณ์ได้ จะได้ช่วยถ่ายทอดการรายงานเหตุการณ์ไปยังเรือรบหรือศูนย์วิทยุประมง ฯ ได้อีกทางหนึ่ง
- เรือประมงที่อยู่ในทะเล ซึ่งเปิดเครื่องวิทยุเฝ้าฟังอยู่ในช่องที่ ๒๑ C เมื่อได้ยินการรายงานเหตุการณ์หรือภัยพิบัติทางช่องความถี่นี้ และพิจารณาเห็นว่า เรือประมงซึ่งกำลังประสบเหตุการณ์หรือกำลังประสบภัยพิบัตินั้น ไม่สามารถทำการติดต่อสื่อสารกับเรือรบหรือกับศูนย์วิทยุประมง ฯ ได้ให้เรือประมงที่ฟังการรายงานเหตุการณ์ทำการส่งต่อเพื่อถ่ายทอดข่าวนั้นให้เรือรบและศูนย์วิทยุประมง ฯ ทราบได้ไม่ชักช้า หากยังไม่สามารถดำเนินการ ส่งต่อเพื่อถ่ายทอดข่าวกันเป็นช่วง ๆ จนกว่าเรือรบ หรือศูนย์วิทยุประมง ฯ จะได้รับรายงานเหตุการณ์หรือภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้น เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป
- เรือประมงที่ได้รับฟังการรายงานเหตุการณ์หรือภัยพิบัตินั้น ถ้าอยู่ใกล้และอยู่ในวิสัยที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ให้ดำเนินการทันทีโดยไม่ชักช้า
- สำหรับเรือประมงที่มีเครื่องรับ - ส่งวิทยุระบบ HF ซิงเกิลไซด์แบนด์ (วิทยุใหญ่) ใช้ในเรือ ให้ใช้ความถี่ 8249 KHz Upper Side Band (USB) ติดต่อสื่อสารกับสถานีวิทยุบนฝั่งของกองทัพเรือ แล้วรายงานเหตุการณ์ ให้ทราบ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
กองทัพเรือ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดบรรยายให้ความรู้คลื่นสึนามิ
วานนี้ (๑๑ มกราคม ๒๕๔๘) พลเรือโท ธนา บุนนาค ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ ๓ เป็นประธาน ในการจัดบรรยายพิเศษให้ความรู้เกี่ยวกับคลื่นยักษ์สึนามิ โดย มิสเตอร์ยาซูอีโกะ ทานาเบ้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการและผู้เชี่ยวชาญการจัดการภัยพิบัติ แผนกจัดการภัยพิบัติ หน่วยจัดการภัยพิบัติประเทศญี่ปุ่น (FDMA) ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ผู้เข้าฟังบรรยายมาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง
การจัดบรรยายพิเศษดังกล่าว กองทัพเรือโดย ทัพเรือภาคที่ ๓ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ควมเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเกิดปรากฏการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ผลกระทบที่ได้รับ ตลอดจนวิธีการเตรียมการป้องกัน และระมัดระวัง ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน หากเกิดปรากฏการณ์คลื่นยักษ์สึนามิขึ้นอีก--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ