คณะทำงานการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชน มีมติเลือก ๑๓ ชุมชน ผ่านเกณฑ์การรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ประจำปี ๒๕๕๕

ข่าวท่องเที่ยว Friday May 18, 2012 17:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--อพท. เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) โดยสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน (สทช.) ได้จัดประชุม คณะทำงานการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนครั้งที่ ๓/๒๕๕๕ ณ ห้องประชุม อพท.๑ชั้น ๓๑ ถนนพระรามหก กรุงเทพฯ ซึ่งในการประชุมได้มีการคัดสรรแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามเกณฑ์รับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากสำนักงานพื้นที่พิเศษ ๑ — ๖จนได้ข้อสรุปว่า มีชุมชนในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น๑๓ ชุมชน ที่ผ่านมา สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนและสำนักงานพื้นที่พิเศษ ๑ — ๖ได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ระหว่างเดือนเมษายน — เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ โดยได้จัดเวทีการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่พิเศษและสำรวจเพื่อประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เข้าสู่กระบวนการการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อเป็นชุมชนนำร่องการพัฒนา และท้ายที่สุด อพท. จะมอบรางวัลแก่ชุมชนที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในปี๒๕๕๖ ผ่านเวทีสัมมนาใหญ่ประจำปีของ อพท. โดยชุมชนที่ได้รับรางวัลจะต้องรักษามาตรฐานท่องเที่ยวโดยชุมชนสม่ำเสมอทุกปีหลังจากที่ได้รับรางวัลไปแล้ว การประชุมคณะทำงานรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนครั้งที่ ๓ นี้ ต้องการนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ทั้งหมดมาพิจารณาตัดสินคัดเลือกชุมชนที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามเกณฑ์การรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสำหรับผู้ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน, สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย,สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, ชุมชนนำเที่ยวบ้านปราสาท,ชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแม่กำปอง, สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย,มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชนอพท. สำหรับ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง(สพพ.๑) มีชุมชนที่ผ่านการคัดเลือก ๒ ชุมชน คือ ตำบลน้ำเชี่ยว และตำบลแหลมกลัดโดย ตำบลน้ำเชี่ยว มีจุดเด่นด้านการจัดการรวมกลุ่มของคนในชุมชนทั้งชาวพุทธมุสลิม อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และมีภูมิปัญญาท้องถิ่น มีกลุ่มยุวชนต้นน้ำมีการร่วมกิจกรรมกำจัดขยะที่ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดำเนินการ ซึ่งคณะทำงานรับรองแหล่งท่องเที่ยวฯวาดฝันว่าอยากให้บ้านน้ำเชี่ยวเป็นต้นแบบการสร้างตลาดเฉพาะ NicheMarket ส่วน ตำบลแหลมกลัดถือเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์ของตน มีชายหาดที่สวยงาม มีหอยตลับขาวและปลาโลมาหัวบาตรน้ำตก และอ่างเก็บน้ำ นักท่องเที่ยวเพลิดเพลินชมหิ่งห้อยยามค่ำคืน ป่าธรรมชาติติดชายแดนประเทศกัมพูชาตรงช่วงเทือกเขาบรรทัดและมีสินค้าที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกมากแต่ยังขาดการจัดการด้านการตลาดให้เกิดการลงตัว พื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี(สพพ.๒) มี ๒ ชุมชนที่ผ่านการคัดเลือก คือบ้านสันลมจอย และบ้านไร่กองขิง ซึ่งทั้ง ๒ ชุมชนนี้ยึดถือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน บ้านสันลมจอยมีความโดดเด่นเรื่องวิถีของชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ) ชนเผ่าลีซู (ลีซอ) และคนเมืองอาศัยอยู่ร่วมกันซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขตเมืองเชียงใหม่ ภูมิประเทศอยู่ติดกับเชิงดอยสุเทพและอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย วิถีการสร้างที่พักอาศัยยังคงยึดถือต้นแบบการสร้างบ้านบนภูเขาและสวมใส่ชุดชาวเขาเพื่อคงอัตลักษณ์ในวิถีชนเผ่าอย่างชัดเจน คนในชุมชนมีรายได้จากการสานกระเป๋าย่านลิเภาซึ่งรับวัตถุดิบมาจากภาคใต้แถวจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วนำมาขึ้นกระเป๋าทำหูหิ้วและลงลายที่บ้านไร่กองขิงหลังจากนั้นจึงส่งไปขายที่กรุงเทพฯ โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ส่วน บ้านไร่กองขิง มีจุดเด่นเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์และการจัดการขยะ รวมทั้งการดำเนินการกิจกรรมออมทรัพย์ในชุมชน มีประเพณีบูชาธารน้ำไหว้พระแม่คงคา พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง(สพพ.๓) มี ๒ ชุมชน คือ ตำบลห้วยใหญ่ และตำบลตะเคียนเตี้ย ตำบลห้วยใหญ่เด่นในเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนแม้ว่าชุมชนนี้จะยังไม่ได้พัฒนาการท่องเที่ยวแต่ก็มีการวาดฝันถึงแผนการในอนาคตว่าต้องการจะพัฒนาอะไรให้เกิดขึ้นบ้างซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนา ขณะที่ ตำบลตะเคียนเตี้ยมีจุดเด่นในการพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบด้านวัฒนธรรมได้เพราะมีเสน่ห์ในภูมิปัญญาของชาวบ้าน แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (สพพ.๔) มี๓ ชุมชน คือ ตำบลเมืองเก่า และบ้านคุกพัฒนาซึ่งทั้งสองชุมชนนี้อยู่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย นอกจากนี้ ยังมีตำบลนครชุม ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร สำหรับตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัยมีวัฒนธรรมการแกะสลักไม้ การทำกรอบรูป และการทำบ้านทรงไทยจากเศษไม้ มีภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่หลากหลายมีกลไกการจัดการชุมชนที่เข้มแข็ง เช่น การตั้งคณะกรรมการร่วมกับ ๑๒ ชุมชนมีการให้ความร่วมมือกับกรมศิลปากรในการช่วยอนุรักษ์ ซึ่งจะสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้และการสื่อความหมายของชุมชนรวมทั้งจะพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและการสร้างเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยว ตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร มีความโดดเด่นในเรื่องการทำพระเครื่องมีตลาดย้อนยุคโบราณ และงานศิลปะชั้นสูง นอกจากนี้ นายกเทศมนตรี กำนันก็มีส่วนผลักดันในการพัฒนาชุมชนและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนการต่อยอดผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการตลาด และการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว บ้านคุกพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยชุมชนนี้เป็นชุมชนที่มีศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงมีการใช้พลังงานทดแทน มีการวางแผนการท่องเที่ยวแต่ยังไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ พื้นที่พิเศษเลย (สพพ.๕) จากการพิจารณา๔ พื้นที่ ได้ข้อสรุป ๒ ชุมชนที่ผ่านการคัดเลือก คือ ตำบลกกสะทอน และตำบลบ้านปลาบ่า ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย เป็นชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวจำนวนมาก มี ภูลมโล ซึ่งมีต้นนางพญาเสือโคร่ง(ซากุระเมืองไทย) ออกดอกบานสะพรั่ง ๓ เดือนต่อปี อยู่ที่หมู่ที่ ๗ มีชาวม้งอาศัยอยู่ มีน้ำตก และรอยเท้าไดโนเสาร์ ประกอบด้วย๑๒ หมู่บ้าน มีการปลูกข้าวไร่ และงานสู่ขวัญข้าว งานบุญประเพณีแต่ยังเกิดปัญหาการเข้าถึงเพราะระยะทางไกลมากต้องขึ้นเขายังไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย แต่ชุมชนนี้มีความสามัคคีถ้านำจุดเด่นเรื่องการปลูกข้าวไร่มาชูเป็นจุดขายเพิ่มเติมจากการชมทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งที่ภูลมโลนอกจากนี้ อพท. จะต้องทำกลไกการบริหารจัดการความปลอดภัยในพื้นที่สร้างกิจกรรมดึงดูดนอกฤดูกาลดอกซากุระบาน จุดเด่นของชุมชนนี้คือแทบจะไม่ต้องพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ โดยเฉพาะชุมชนในหมู่ที่ ๗ และหมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านปลาบ่า เป็นชุมชนหนึ่งที่อยู่ติดกับสวนรุกชาติภูแปกเป็นชุมชนที่มีการพัฒนาพืชเกษตรอินทรีย์ และอาหารปลอดสารพิษ มีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพื้นที่สูงภูเรือจังหวัดเลย สามารถเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวครอบครัว และกลุ่มศึกษาดูงาน เช่นการศึกษาดูงานการปลูกกะหล่ำปลีรูปหัวใจ และมีจุดเด่นคือมีอากาศหนาวเย็นที่สุดในประเทศไทยทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเดินทางมาเที่ยวชมแม่คะนิ้ง ซึ่ง อพท. จะต้องเข้าไปจัดการเรื่องการส่งเสริมการตลาดการจัดการเส้นทางท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงพื้นที่รวมทั้งจัดทำคู่มือส่งเสริมการท่องเที่ยว พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน (สพพ.๖) มีการเสนอชุมชนเข้าคัดสรร๙ ชุมชน แต่คณะทำงานจำเป็นต้องคัดสรรเลือกเพียง ๒ พื้นที่ คือ เขตเมือง(ชุมชนมหาโพธิ์ ชุมชนพระเกิด ชุมชนเขตกลาง ชุมชนหัวแหวนเมืองน่าน และบ้านหนองเต่า)พื้นที่ดังกล่าว มีพระธาตุแช่แห้งซึ่งเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองน่านที่แสดงความรักและความสัมพันธ์อันดีระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีตและ เขตนอกเมือง ตำบลบ่อสวก มีบ่อเกลือโบราณเป็นแหล่งเตาเผาโบราณ การทำน้ำตาลอ้อย และงานทอผ้าลายพื้นเมืองน่านและมีโฮมสเตย์ที่สามารถส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปพักผ่อนและเดินทางเข้าสู่เขตเมืองได้ง่ายไม่ไกลนักก็สามารถสัมผัสวิถีชนบทได้ อยู่ห่างจากเมืองน่าน ๑๕กิโลเมตรและห่างจากพระธาตุแช่แห้ง ๑๔ กิโลเมตร ซึ่ง อพท.ต้องการพัฒนาบ่อสวกเป็นแหล่งเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผา สำหรับกระบวนการดำเนินการแก่ชุมชนนำร่องทั้ง๑๓ ชุมชนนี้ คณะทำงานการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สทช. และสำนักงานพื้นที่พิเศษ๑ — ๖ จะร่วมกันดำเนินงานดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ ๑. ประเมินผลตามเกณฑ์การรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนครั้งที่ ๑ เพื่อเป็นฐานในการทำงาน และวางแผนนำมาพัฒนา ๒. จัดทำแผนพัฒนารายชุมชนเพื่อต่อยอดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและเติมเต็มส่วนที่ขาดไปตามแผนพัฒนารายชุมชน ๓. จัดกิจกรรมพัฒนาอย่างน้อย๒ กิจกรรมตามแผนพัฒนารายชุมชน เพื่อช่วยให้การดำเนินตามแผนรายชุมชนบรรลุผล ๔. สนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการจัดกิจกรรมตามแผนพัฒนารายชุมชนเพื่อช่วยให้การดำเนินการตามแผนพัฒนารายชุมชนบรรลุผล สำหรับชุมชนที่ไม่ผ่านการพิจารณาหรือชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ สพพ.๑ — สพพ.๖ อพท.ก็ยังให้การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาการท่องเที่ยวตามโครงการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษปี๒๕๕๔แต่ต้องเป็นโครงการหรือกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเองให้ได้ตามเกณฑ์การรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้ได้๑๐๐ เกณฑ์ ติดต่อ: ติดต่อสอบถามได้ที่ ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร อพท. chompunuth.t@dasta.or.th, chomphunut981@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ