กองทัพเรือ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการศึกษา วิจัย พัฒนา และสาธิตพลังงานทดแทน ระหว่างกองทัพเรือ และ กรมพัฒนา

ข่าวทั่วไป Tuesday June 8, 2004 10:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการศึกษา วิจัย พัฒนา และสาธิตพลังงานทดแทน ระหว่างกองทัพเรือ และ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษา วิจัย พัฒนา และสาธิตการใช้ไบโอดีเซลร่วมกับก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ดีเซล ระหว่าง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน - กรมอู่ทหารเรือ - บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย
นายแพทย์ พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกองทัพเรือและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษา วิจัย พัฒนา และสาธิตพลังงานทดแทน และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ กรมอู่ทหารเรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย ในความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษา วิจัย พัฒนา และสาธิตการใช้ไบโอดีเซลร่วมกับก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ดีเซล ณ อาคารชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ บางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๕.๐๐ น.
สำหรับการลงนามในบันทึกความเข้าใจทั้ง ๒ ฉบับ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ กองทัพเรือได้อนุมัติให้ กรมอู่ทหารเรือ ดำเนินโครงการศึกษา วิจัย พัฒนาและสาธิตการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง ร่วมกับ การพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ตั้งแต่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ซึ่งการดำเนินการได้ผลคืบหน้าเป็นอย่างดี ประกอบกับกองทัพเรือได้ดำเนินการในโครงการวิจัยการใช้ก๊าซธรรมชาติในเครื่องยนต์ดีเซลได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กองทัพเรือ และ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ จึงขยายขอบเขตความร่วมมือดังกล่าวให้ครอบคลุมพลังงานทดแทนในด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้หน่วยงานราชการเป็นหน่วยงานนำร่องในการพัฒนาพลังงานทดแทนพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เป็นโครงการนำร่องในการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศมาใช้อย่างคุ้มค่า ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้านำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะขยายผลไปสู่ภาคขนส่งและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งพาตนเองภายในประเทศทั้งด้านพลังงานและด้านวิศวกรรมยานยนต์ นอกจากนั้น การใช้ ไบโอดีเซลร่วมกับก๊าซธรรมชาติจัดเป็นเชื้อเพลิงสะอาดไม่ก่อให้เกิดควันดำ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมในการช่วยลดมลพิษทางอากาศ ดังนั้นความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวจึงเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ