ฟิทช์จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ ที่ค้ำประกันโดย JBIC และ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น

ข่าวยานยนต์ Tuesday June 8, 2004 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าจะให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แก่หุ้นกู้ค้ำประกันชนิดทยอยชำระคืนเงินต้นของบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด (TIS) มูลค่าไม่เกิน 4 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2551 ซึ่งได้รับการค้ำประกันในลักษณะเต็มจำนวน ไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถยกเลิกได้จากบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น (MC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ และค้ำประกันเงินต้นแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถยกเลิกได้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ปัจจุบัน MC ได้รับการจัดอันดับโดยฟิทช์ โดยมีอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Foreign Currency Rating) ที่ระดับ A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะที่อันดับเครดิตของ JBIC ซึ่งถือหุ้น 100% โดยรัฐบาลญี่ปุ่นและมีฐานะเป็นธนาคารที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอันดับเครดิตของประเทศญี่ปุ่น โดยฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นไว้ที่ระดับ AA แนวโน้มเครดิตเป็นลบ
เนื่องจากอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกันทั้งสองสูงกว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Local Currency Rating) ของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ A- (A ลบ) แนวโน้มเครดิตเป็นบวก อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันดังกล่าว จึงมีอันดับเท่ากับอันดับเครดิตภายในประเทศของรัฐบาลไทยที่ระดับ AAA(tha) ในการเรียกร้องการชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน ผู้ถือหุ้นกู้สามารถเรียกร้องเงินต้นและดอกเบี้ยจาก MC ได้เป็นอันดับแรก เมื่อมีเหตุที่ทำให้ MC ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ JBIC จะรับผิดชอบชำระคืนเฉพาะเงินต้นให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ ถึงแม้ว่า JBIC จะค้ำประกันเฉพาะเงินต้น การค้ำประกันของ JBIC ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของหุ้นกู้ในระดับหนึ่ง
อันดับเครดิตของ MC ซึ่งเป็นบริษัทเทรดดิ้งที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจของบริษัท คุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และการมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ได้มีการกระจายที่เหมาะสมทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน สำหรับผลประกอบการในปี 2546/2547 สิ้นสุดเดือนมีนาคมปี 2547 MC มีกำไรสุทธิ 115.4 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 85% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากกำไรจากการดำเนินที่เพิ่มขึ้น 30% และกำไรจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมีนาคมปี 2547 MC มีหนี้สินรวม 4,054.5 พันล้านเยน และมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Debt to Equity) ที่ 2.9 เท่าเทียบกับ 3.9 เท่าเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมปี 2546 สถานะทางการเงินของ MC อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นผลเนื่องมาจากโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบริษัทเทรดดิ้งอื่นในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงความคล่องตัวทางการเงินของบริษัทในการจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน จากการที่ บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ ได้มีการประกาศที่จะไม่ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินเพิ่มเติมแก่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (MMC) ที่กำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน MMC ได้ประกาศแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งรวมถึงการออกหุ้นบุริมสิทธิให้แก่ MC ซึ่งถือหุ้นใน MMC อยู่ 5% จำนวน 40 พันล้านเยน ในขณะที่การสนับสนุนทางด้านการเงินของ MC ต่อ MMC ณ ระดับดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ MC การสนับสนุนทางด้านการเงินเพิ่มเติมในอนาคต อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ MC รวมถึงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ค้ำประกันของ TIS ด้วยเช่นกัน
JBIC ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2542 โดยการควบรวมระหว่างธนาคารนำเข้าและส่งออกของญี่ปุ่นกับกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น โดย JBIC ดำเนินการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการนำเข้าและส่งออกของประเทศญี่ปุ่นและช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ JBIC ยังให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2546 JBIC มียอดการปล่อยสินเชื่อรวมอยู่ประมาณ 20 ล้านล้านเยน และมีเงินกองทุนอยู่ 7 ล้านล้านเยน ในการจัดทำประมาณการรายได้และรายจ่ายของ JBIC จะต้องมีการนำเสนอต่อรัฐสภาญี่ปุ่นเพื่อขออนุมัติ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณางบประมาณประจำปีของประเทศ เนื่องจาก JBIC มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลญี่ปุ่นถือหุ้น 100% ใน JBIC ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้การสนันสนุนแก่ JBIC ในกรณีที่ JBIC ต้องการการสนับสนุน
MC และบริษัทลูก ถือหุ้น 90% ใน TIS โดย TIS เป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิเช่น ธุรกิจประกอบรถยนต์ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ การบริการหลังการจำหน่าย การส่งออกรถยนต์ การขนส่งรถยนต์ และบริการทางด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ผ่านทางบริษัทลูกและบริษัทร่วม TIS สามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 21 ปีด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงประมาณ 40%
สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์ของบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด หาได้จาก www.fitchratings.com หรือ ติดต่อ
เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, ผู้ช่วยกรรมการ, ภาคอุตสาหกรรม + 662 655 4760
ธนวัฒน์ รุ่งธนาภิรมย์, CFA, นักวิเคราะห์, ภาคอุตสาหกรรม + 662 655 4758
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ + 662 655 4759
Satoru Aoyama, + 81 3 3288 2691
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้--จบ--
-นท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ