กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--สหมงคลฟิล์ม
กำหนดฉาย 14 มิถุนายน 2555
แนวภาพยนตร์ แอ็คชั่น ดราม่า
ผู้สร้างและจัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัทดำเนินงานสร้าง บาแรมยู
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมการสร้าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์
ดำเนินงานสร้าง ศิตา วอสเบียน
ประสานงานสร้าง จันทพร ธนโกเศศ
กำกับภาพยตร์ ก้องเกียรติ โขมศิริ
กำกับภาพ สยมภู มุกดีพร้อม
ออกแบบงานสร้าง ธนะ เมฆาอัมพุท
กำกับศิลป์ สุดเขตร ล้วนเจริญ
ออกแบบเครื่องแต่งกาย ชาติชาย ไชยยนต์
บทภาพยนตร์ ก้องเกียรติ โขมศิริ
ฟิล์มแลบส์ Orientalpost Co.,Ltd and Postique Co.,Ltd
บันทึกเสียง บริษัท กันตนาแลบบอราทอรี่ จำกัด
ดนตรีประกอบ และออกแบบเสียง บริษัท คณิศรสตูดิโอ จำกัด
แสดงนำโดย กฤษดา สุโกศล แคลปป์, สมชาย เข็มกลัด,
สาครินทร์ สุธรรมสมัย, กฤษฎา สุภาพพร้อม,
ภคชนก์ โวอ่อนศรี, วสุ แสงสิงแก้ว, บุญส่ง นาคภู่,
นันทรัตน์ ชาวราษฎร์
เรื่องย่อ
ยุคที่ “อันธพาล” โด่งดังไปทั่วราชอาณาจักรของเมืองไทย เหล่าอันธพาลต่างถูกยกย่องว่าเป็นฮีโร่ ผู้คนมากมายต่างนับหน้าถือตาในยุคนั้น ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ประกาศออกกฎหมายซ่องโจร กวาดล้างและปราบปรามอันธพาลครั้งใหญ่ จากฮีโร่กลับกลายเป็นผู้ร้ายหนีคุกทันที บ้างก็ถูกยิงตายข้างถนนอย่างไม่เหลือเกียรติใดๆ รวมถึงอันธพาลดาวดังที่ชื่อ “แดง” กับ “จ๊อด” ก็ยังถูกจับติดคุกอยู่นานถึง 4 ปี มันคือสิ่งที่ถูกกล่าวขานกันมานาน
จากยุคร็อกแอนด์โรล เข้าสู่ยุคฮิปปี้ การกลับมาของอันธพาลรุ่นเก๋า “จ๊อด” (รับบทโดย กฤษดา สุโกศล แคลปป์) และ “แดง” (รับบทโดย สมชาย เข็มกลัด) เมื่อเส้นทางแห่งการเป็นนักเลงอันธพาลถูกกำหนดเอาไว้เรียบร้อย แดงชวน จ๊อดร่วมงานกับแก๊งเจ้าพ่อใหญ่ โดยทำหน้าที่เป็นผู้คุมบาร์และตามเก็บทวงหนี้ จนทำให้ได้รู้จักกับอันธพาลรุ่นน้องสุดห้าว “ธง” (รับบทโดย สาครินทร์ สุธรรมสมัย) และ “เปี๊ยก” (รับบทโดย กฤษฎา สุภาพพร้อม) ที่ยกให้ทั้งคู่เป็นฮีโร่รุ่นพี่นักเลงในดวงใจ และฝันไว้สักวันจะต้องเป็นอันธพาลที่มีชื่อเสียงเหมือน แดง กับ จ๊อดให้ได้
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อจ๊อดเริ่มเข้าใจและรู้ซึ้งถึงความหมายของวงการนักเลงอันธพาลอย่างถ่องแท้ การใช้กำลังไม่ใช่หนทางที่ทำให้ผู้คนนับถือ ทัศนคติและมุมมองที่ต่างกันของคน 2 วัย กลับเป็นกระจกสะท้อนของกันและกันให้ได้เรียนรู้ถึง "ชีวิตที่ผ่านพ้น" กับ “ชีวิตที่กำลังจะเติบโต" ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและขัดแย้งที่เกิดขึ้น ชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นอย่างไร เมื่อพวกเขาเลือกเดินบนเส้นทางที่เรียกว่า “อันธพาล”
จุดเริ่มต้นโลก “อันธพาล”
ในประเทศไทยหากพูดถึงแก๊งอันธพาล คงต้องนึกย้อนกลับไปสู่ยุคปีพ.ศ.2500 ที่ต่างก็รับรู้ว่าเป็นยุคที่อันธพาลเฟื่องฟูอย่างสุดขีด บรรดานักเลง หรือ อันธพาล สมัยนั้นต่างถูกยกย่องให้เป็นฮีโร่ มีอำนาจ ศักดิ์ศรี จนผู้คนชาวบ้านต่างก็เกรงขาม สำหรับอันธพาลที่โด่งดังมักจะมีฉายาที่ถูกตั้งขึ้นตามถิ่นที่คุมอยู่นั้นๆ จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศขึ้น โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามามีอำนาจพร้อมกับประกาศออกกฎหมายอั้งยี่ หรือซ่องโจร ปราบปรามและกวาดล้างพวกเหล่าอันธพาลทั้งหลายให้หมดสิ้น เพราะคิดว่าเป็นพวกกระทำผิดและก่อการอันมิชอบ เพียงไม่นานอันธพาลจากที่เคยถูกยกย่องว่าเป็นไอดอลและฮีโร่ ก็ต้องกลายเป็นผู้ร้ายหนีคุก ไร้ซึ่งศักดิ์ศรี บ้างก็ถูกยิงตายข้างถนนไร้เกียรติใดๆทั้งสิ้น จนเหลือไว้แต่เพียงตำนานเล่าขานให้แก่คนรุ่นหลัง ที่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยนั่นเอง
และเรื่องราวเหล่านี้คือที่มาของแรงบันดาลใจ ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่มีมุมมอง แนวทางในการสร้างหนังที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
ก้องเกียรติ ผู้กำกับ เล่าถึงที่มาและไอเดียของการนำเสนอเรื่องราวอันธพาลในแบบฉบับของเขาว่า “โดยจุดเริ่มต้น เราอยากทำหนัง Gangsters ในรูปแบบหนัง Thai Gangsters ที่ว่าด้วยเรื่องของอิทธิพลมาเฟียในประเทศไทย โดยแรงบันดาลใจอันดับแรกคือ เราจะนำเสนอเรื่องของแก๊งอันธพาลในแง่มุมไหนดี เราไม่ได้พูดถึงในแง่ประวัติศาสตร์ หรือความเป็นฮีโร่ เชิดหน้าชูหน้าตา โดยสำหรับหนังเรื่องนี้เราเลือกที่จะนำเสนอแง่มุมความเป็นมนุษย์ ความเป็นมิติของตัวละครในทุกๆด้าน ว่าอันธพาลก็เป็นคนเหมือนกับพวกเรานี่แหละ มีสุข เศร้า เหงา มีความเป็นครอบครัว มีรักกัน มีโกรธกัน มีมิติความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ทุกอย่าง การจะเอาปืนไปยิงคน หรือมีดแทงคน มันมีความกลัว และอะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คุณเป็นอันธพาลใหญ่ระดับบิ๊ก แต่ก็สามารถเดินไปเหยียบแก้วตำเท้าได้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน นั่นคือไอเดียแรกที่อยากจะทำเรื่องเกี่ยวกับอันธพาลแบบครบมิติที่สุด ภายใต้หนังแนวแอ็คชั่น”
เมื่อตัวละครถูกเติมแต่งและใส่รสชาติความเป็นคนเข้าไปจนสมบูรณ์แบบ สู่บทภาพยนตร์โดย ก้องเกียรติ โขมศิริ สิ่งที่เขาจะลืมเติมเต็มให้ครบไม่ได้นั้นก็คือ ค่านิยมของผู้คนในยุคนั้น ที่รับอิทธิพลแฟชั่น การแต่งกาย ท่าทาง และแนวการใช้ชีวิตมาจากต่างประเทศ ซึ่งเราเรียกยุคนั้นว่า ยุคแห่งร็อกแอนด์โรล ที่มีต้นแบบมาจาก เจมส์ ดีน และ เอลวิส เพรสลีย์ จนเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง คือยุคบุปผาชน จึงเป็นช่วงเวลาที่ถูกนำหยิบขึ้นมาเล่า
ก้องเกียรติ ผู้กำกับ “ประเด็นต่อไปที่อยากจะเล่าก็คือ เราจะเลือกเล่าในยุคสมัยไหน และสิ่งที่เราคำนึงถึงตลอดเวลาก็คือ การเปลี่ยนแปลง เราจึงเลือกช่วงยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ ยุคพีคสุดของร็อกแอนด์โรล ซึ่งก็เปรียบเทียบได้กับช่วงที่พีคสุดของอันธพาลรุ่นใหญ่ๆ รุ่นแดง รุ่นจ๊อด พอหลังจากนั้นจุดเปลี่ยนสำคัญ เกิดการปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดการปราบโจรครั้งใหญ่ จากไอดอลที่เป็นต้นแบบฮีโร่เด็กวัยรุ่นในยุคนั้นทุกคนโดนจับติดคุกหมด แล้วมันเทิร์นเข้าสู่ยุคบุปผาชน ยุคของฮิปปี้ ยุคของยา ความรุนแรงหลายอย่าง ยุคของการเปลี่ยนแปลงที่ถูกบันทึกประวัติศาสตร์ความรุนแรงในประเทศไทย ที่มาพร้อมกับแฟชั่น วัฒนธรรม ทุกอย่างกำลังถูกเปลี่ยน แม้กระทั่งนักเลงรุ่นเก่าที่มีความเป็นนักเลง ต่อสู้ด้วยการมัดมือแล้วเอามีดแทงวัดใจกัน แบบใจกับใจ ตัวต่อตัว ก้าวเข้าสู่เจนเนอเรชั่นใหม่ ที่เลือกหยิบปืนยิงกันเพราะมันเร็วกว่า ไอเดียหลักๆว่าด้วยของจุดเปลี่ยน ความรุนแรงของกลุ่มอิทธิพลในประเทศนี้ ซึ่งมันมีผลแวดล้อมทั้งกับตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในนั้น และก็คนที่อยู่ในประเทศทุกวันนี้ที่ได้เคยรับความรู้สึกนั้น
พร้อมกับสะท้อนแง่คิดที่แตกต่างของผู้คนต่างยุคจนนำพาสู่เรื่องราวต่างๆในภาพยนตร์ครั้งนี้ว่า “หนังเดินทางไปจบที่ยุคบุปผาชน ช่วงที่มีเจนเนอเรชั่นใหม่ขึ้นมา ที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กวัยรุ่น 2 คน ที่มีจ๊อด กับ แดง เป็นไอดอลนักเลงในดวงใจ ในขณะที่รุ่นเก่ากำลังเบื่อการตีรันฟันแทง เริ่มเรียนรู้สัจธรรม แต่รุ่นใหม่ เจนเนอเรชั่นใหม่มาพร้อมกับความห้าวเต็มรูปแบบ มีปืน มีการฆ่ากันได้ง่ายมากขึ้น กลายเป็นความขัดแย้งของคน 2 ยุค ซึ่งเอาเข้าจริงในมุมลึกๆแอบสะท้อนความเป็นนักเลงสมัยเก่าที่มีศักดิ์ศรี มีการให้เกียรติกัน รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ ในแง่ของความเป็นเพื่อนสามารถตายแทนกันได้เลย และเมื่อมาเทียบกับวัยรุ่นยุคนี้ที่เรียกตัวเองว่านักเลง แต่แอบตีกันหลับหลังไม่มีเกียรติกันเลย ก็ถูกนำมาเล่าเปรียบเทียบกับนักเลงยุคใหม่ ที่ต้องการเป็นใหญ่อย่างรวดเร็ว การจะหยิบมีดมาแทงกันมันช้าไปใช้ปืนยิงกันเลยดีกว่า และเมื่ออะไรที่มันเร็วมากจนเกินไป ก็ทำให้มองไม่เห็นเนื้อแท้และคุณค่าอย่างลึกซึ้ง แต่มันย้อนกลับมาทำร้ายตัวเรา สุดท้ายก็นำพาไปสู่โลกของอาชญากรรมนำมาซึ่งความเจ็บปวดอย่างแน่นอน แล้วหัวใจของนักเลงแท้จริงมันคืออะไร ลูกผู้ชายจริงๆวัดกันที่ไหน นี่คือสิ่งที่พยายามสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในหนังเรื่องนี้ครับ”