กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--บลจ.บัวหลวง
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนับตั้งแต่ต้นปี 2555 ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หรือจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของประเทศสหรัฐอเมริกา ล้วนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น (อิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก คิดเป็นผลผลิตราว 5% ของทั้งหมด และยังมีช่องแคบเฮอร์มูซเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันดิบมากถึง 40% ของปริมาณทั้งหมดที่ขนส่งทางทะเลทั่วโลก)
การที่ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบ เพื่อใช้ในการบริโภคติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย (ปี 2554 เรานำเข้าน้ำมันดิบ 9.5% ของ GDP) ทำให้เราได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันดิบที่แพงขึ้น นอกจากนี้ โครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบของเราก็เพิ่งถูกปรับขึ้นใหม่ เพื่อให้สะท้อนราคาในตลาดโลกด้วย จึงส่งผลให้ผู้ใช้น้ำมันในการขับขี่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นประมาณ 20% นับจากต้นปี ดังนั้น พลังงานทดแทน จึงเป็นทางออกที่ต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้ทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบ ซึ่งก็พบว่าประเทศไทยมีพืชผลทางการเกษตรที่เพียงพอสำหรับการผลิตพลังงานทดแทน นอกจากนี้ รัฐบาลยังลดหย่อนอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดส่วนต่างด้านราคาที่จูงใจผู้ใช้น้ำมันในการขับขี่ด้วยการทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ในปัจจุบันถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 91 ประมาณ 4 บาท ดังนั้น พลังงานทดแทน ซึ่งได้แก่ แก๊สโซฮอล์ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อใช้ลดการนำเข้าน้ำมันดิบ
แก๊สโซฮอล์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมระหว่างเอทานอล (Ethanol) และน้ำมันเบนซิน โดยเอทานอลสามารถผลิตจากพืชจำพวกแป้ง เช่น มันสำปะหลัง หรือ อ้อยและกากน้ำตาล ซึ่งประเทศไทยก็มีพืชดังกล่าวที่เหมาะสำหรับการนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล โดยในปี 2554 เราใช้มันสำปะหลังภายในประเทศ คิดเป็นปริมาณร้อยละ 26 และที่เหลือร้อยละ 74 เป็นการส่งออก ส่วนกากน้ำตาลก็เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายจากอ้อย โดยกากน้ำตาลส่วนใหญ่ประมาณ 57% ถูกนำไปผลิตเอทานอล อีก 23% ถูกนำไปผลิตสุรา อีก 9% นำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์และผงชูรส และที่เหลือจะส่งออก แต่เนื่องจากการผลิตเอทานอลภายในประเทศยังมีจำกัด จึงทำให้โรงงานที่ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาลต้องแข่งขันราคากัน โดยมีต้นทุนการผลิตที่แตกต่างกันตามราคาของมันสำปะหลังและกากน้ำตาลในแต่ละขณะ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นผู้กำหนดราคาเอทานอลอ้างอิง เพื่อใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานด้วยสูตรคำนวณตามต้นทุนที่ผลิตจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาล แต่ก็มิได้มีการควบคุมราคา ทำให้ราคาท้ายสุดอยู่ที่การเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายตามกลไกตลาด
ในปี 2554 ความต้องการใช้เอทานอลในประเทศโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.0-1.2 ล้านลิตรต่อวัน เทียบกับปริมาณเอทานอลที่สามารถผลิตได้จากโรงงาน ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 3.04 ล้านลิตรต่อวัน ทำให้ยังคงเกิดภาวะเอทานอลล้นตลาด โรงงานต่างๆ จึงไม่ได้เดินการผลิตเต็มกำลัง และเอทานอลส่วนเกินต้องส่งออกไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติให้ยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 91 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป อีกทั้งการสนับสนุนทางด้านภาษีสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ จึงส่งผลให้รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตออกมามีการรองรับเชื้อเพลิงทดแทนอย่างแก๊สโซฮอล์ E20 (เอทานอล 20% ผสมนํ้ามันเบนซิน 80%) และแก๊สโซฮอล์ E85 (เอทานอล 85% ผสมนํ้ามันเบนซิน 15%) มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตเอทานอลและเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังหรืออ้อยในอนาคต
แก๊สโซฮอล์เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้พืชผลทางการเกษตรในประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการลดการนำเข้าน้ำมันดิบและเป็นการช่วยสนับสนุนราคาพืชผลเกษตรภายใน ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศอีกด้วย เนื่องจากเอทานอลเป็นผลิตผลธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้โดยไม่เกิดมลพิษตกค้าง และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อนไปได้พร้อมกัน
แนวคิดในการใช้ประโยชน์จากสินค้าเกษตรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มจะเติบโตไปเรื่อยๆ หากบริษัทใดมีการเตรียมพร้อมในการพัฒนาและมีการพัฒนาแหล่งต้นน้ำ ซึ่งได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกเป็นของตนเอง ย่อมได้รับประโยชน์จากแนวคิดพลังงานทดแทนในอนาคต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้นทุนในการผลิตยังค่อนข้างแพง การลงทุนจึงยังต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น การรณรงค์ ภาษี หรือเงินสนับสนุน แต่ในอนาคตการลดลงของอุปทานน้ำมันดิบจากการที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันเริ่มหมดไป ปัญหาโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน กับความเสี่ยงเรื่องความรุนแรงในตะวันออกกลาง ล้วนแต่จะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้หลายๆ ประเทศเสาะแสวงหาพลังงานทดแทนใหม่ๆ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ช่วยลดโลกร้อนโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยก็ไม่น่าจะเป็นข้อยกเว้น
Disclaimer : ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ.บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น