กรอ. เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.โรงงานใหม่ เน้นอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจให้โรงงานเกิดความรับผิดชอบต่อสังคม

ข่าวทั่วไป Monday May 21, 2012 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--กรมโรงงานอุตสาหกรรม นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รับนโยบายจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้พิจารณาพัฒนาปรับปรุงกฏหมายโรงงานให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ ที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ตลอดจนกฎหมายลำดับรองที่ออกตามกฎหมายนี้ ได้นำมาใช้บังคับเป็นเวลานานแล้ว และปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดช่องว่างหรือ ความไม่ชัดเจนในการกำกับดูแลโรงงาน โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ระบบป้องกันและรับมือ กับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา การดำเนินการต่างๆ ในการอนุญาตและกำกับโรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จะต้องดำเนินการไปด้วยความโปร่งใส และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในกระบวนการตัดสินใจ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดว่าพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และกฎหมายลำดับรองที่ออกภายใต้กฎหมายนี้ว่ามีความสอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงาน ประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องดังกล่าว นอกจากนั้น กฎหมายโรงงานปัจจุบันได้วางหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้โรงงานปฏิบัติเป็นการทั่วไป ยังไม่มีบทบัญญัติใดที่จูงใจให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ทำดีหรือดีกว่าที่กฎหมายกำหนด มีโอกาสได้รับสิทธิหรือประโยชน์เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำดี และมีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงควรปรับปรุงกฎหมายโรงงานให้มีบทบัญญัติที่ส่งเสริมให้โรงงานที่ดีได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ได้รับการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียม หรือได้รับการพิจารณาอนุญาตหรือให้บริการในเวลาที่รวดเร็วกว่ากรณีปกติ (Fast Track) กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษา ทำการศึกษาร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปรับปรุง แก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ทั้งฉบับ โดยในเบื้องต้นมีประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหลายประเด็น เช่น - การมีบทบัญญัติที่ส่งเสริมหรือจูงใจให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ปฏิบัติได้มาตรฐานสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดให้สามารถได้รับสิทธิพิเศษกว่ากรณีทั่วไป - การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 1 (โรงงานเล็กๆ) เพื่อประโยชน์ในทางข้อมูลและการกำหนดนโยบาย ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องแจ้งข้อมูลใดๆ ทำให้ขาดข้อมูลในส่วนนี้ - การปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ในรูปของคณะกรรมการในกรณีที่เป็นกิจการที่มีผลกระทบสูง - การกำหนดให้มีระบบการอนุญาต การกำกับ การจัดเก็บเอกสารโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเต็มรูปแบบการควบคุมกิจการที่ก่อให้เกิดมลพิษกำหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยทั้งในขณะประกอบกิจการโรงงาน และภายหลังจากเลิกการประกอบกิจการ เช่น จะต้องบำบัดกำจัดสารพิษตกค้างให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งในปัจจุบันกรณีเลิกกิจการกฏหมายยังไม่ครอบคลุม - การกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับโรงงานในเขตประกอบการอุตสาหกรรมให้มีระบบและชัดเจนมากขึ้น - การปรับปรุงการเก็บค่าธรรมเนียมโรงงานให้สะท้อนถึงขนาดการผลิตที่แท้จริง และนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการผลิตภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบัน ค่าธรรมเนียม ยังไม่เหมาะสม เช่น โรงงานขนาดย่อมที่มีแรงงาน 20 แรงม้า เสียค่าธรรมเนียม 300 บาท หรือ 15 บาทต่อ 1 แรงม้า ขณะที่โรงงานที่มีแรงม้า 6,000 แรงม้าหรือมากกว่า เสียค่าธรรมเนียมอัตราคงที่คือ 18,000 บาทคิดเป็น 3 บาทหรือน้อยกว่า 3 บาทต่อแรงม้า - การสร้างกลไกให้บุคคลที่ 3 (Third Party) ที่เป็นมืออาชีพมาช่วยปฏิบัติงานบางเรื่องแทน กรมโรงงานอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น - การปรับปรุงประเด็นอื่นๆ ที่ทำให้กฏหมายเป็นสากลมากขึ้น เพื่อรองรับการค้าเสรีและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และมุ่งพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ (Eco-Industry) ทั้งนี้ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะได้จัดสัมมนา “โครงการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยโรงงานเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม” ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ หลังจากนี้ จะได้นำประเด็นต่างๆ มาวิเคราะห์เจาะลึก และยกร่างกฎหมายโรงงานฉบับใหม่ แล้วจึงนำมารับฟังความคิดเห็น/ประชาพิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้น จึงปรับแต่งให้เหมาะสม ครบถ้วน และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อส่งเรื่องให้สภาผู้แทนราษฏรพิจารณาต่อไป ซึ่งหากไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีได้ประมาณเดือนกันยายน 2555

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ