Digital Agenda Thailand เชิญชวนคนไทย “รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย” กับกิจกรรมสัมมนาครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “มองมุมใหม่... ทีวีดาวเทียมและโมบายล์ทีวี” พร้อมเดินหน้าสานต่อซีรี่ส์ 4 "Content & Creativity in the Digital Thailand"

ข่าวทั่วไป Monday May 21, 2012 14:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--Digital Agenda Thailand มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) สถาบันวิชาการนโยบายสาธารณกับธุรกิจ และการกำกับดูแล (APaR) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และเอ๊ซ (ACE) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ “Digital Agenda Thailand” หรือ “วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย” จัดสัมมนาต่อเนื่องเป็นซี่รีส์ที่ 3 ในหัวข้อ “มองมุมใหม่... ทีวีดาวเทียมและโมบายล์ทีวี” โดยเชิญวิทยากรชั้นนำทั้งที่เป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ และผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการ Satellite TV และ Mobile TV ทั้งในและต่างประเทศมาร่วมนำเสนอความรู้ และข้อเท็จจริงในทุกแง่มุมจากทั่วโลก มาอัพเดทให้คนไทยได้รับรู้ เพื่อร่วมกันผลักดัน เปิดโอกาส และเปิดสังคมไทยในโลกยุคดิจิทัล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ รศ. สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดี คณะนิติศาสตร์ และประธานสถาบันวิชาการนโยบายสาธารณกับธุรกิจ และการกำกับดูแล (APaR) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “มองมุมใหม่... ทีวีดาวเทียมและโมบายล์ทีวี” ว่าโครงการ Digital Agenda Thailand หรือ “วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย” เป็นภารกิจหรือ Mission ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันวิชาการนโยบายสาธารณกับธุรกิจ และการกำกับดูแล (APaR) สถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และ เอ๊ซ (ACE) ริเริ่มจัดขึ้น โดยมีเป้าประสงค์ในการเป็นตัวกลางที่รวบรวม ค้นหา และส่งผ่านความรู้ ประสบการณ์ และผลกระทบในทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัลจากทั่วโลกมาสู่คนไทย โดยใช้ช่องทางการจัดสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งให้ความรู้เชิงวิชาการและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเทคโนโยลียีดิจิทัลที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทต่อประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการสื่อสารและโทรคมนาคมของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา โดยมีกรณีศึกษาจากประเทศผู้นำของโลกอย่าง อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบในการนำเรื่องของดิจิทัลมาเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว จนกระทั่งปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกและในภูมิภาคเอเชียได้ตระหนักถึงความสำคัญและดำเนินการเปลี่ยนระบบการการสื่อสารและโทรคมนาคมของประเทศเป็นระบบดิจิทัลกันแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นวางกรอบการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทฯ ของคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง “จากการติดตามการทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมา ผมเห็นว่ามีหลายประเด็นที่จะทำให้ ดิจิทัลทีวีในประเทศไทยไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์เพราะแผนการดำเนินงานโดยการกำหนดกรอบเวลาคืนคลื่นความถี่ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิมโดยไม่เรียกคืนพร้อมกันทั้งหมดจะส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาประมูลไม่สามารถเกิดได้ ต้องยอมรับว่า ฟรีทีวีของไทยทรงอิทธิพลและเข้าถึงทุกครัวเรือนจริงๆ หากไม่ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่แบบ Reframing หรือการกำหนดกรอบการจัดสรรใหม่ทั้งระบบแล้วนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ระบบอนาล็อกสำหรับผู้ได้รับสัมปทานเดิม และระบบดิจิตอลสำหรับผู้เข้าประมูลรายใหม่ ซึ่งเมื่อมาตรฐานการแข่งขันไม่เท่าเทียมกัน การแข่งขันอย่างเสรีก็ย่อมไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการออกใบอนุญาตของทีวีดาวเทียมไทยและโมบายล์ทีวีที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนก็ย่อมส่งผลต่อการเติบโตของทีวีดาวเทียมและโมบายล์ทีวีโดยตรง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนมากลงทุนล่วงหน้าไปเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อรอเวลาที่จะได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ในขณะที่ กสทช. ก็ยังไม่เร่งดำเนินการเรื่องการออกใบอนุญาตสำหรับทีวีดาวเทียมหรือแม้แต่โมบายล์ทีวีเลยซะที ดังนั้นไม่เกิน 1 ปี ทีวีดาวเทียมในประเทศไทยก็จะค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ของโมบายล์ทีวีอาจจะไม่มีโอกาสได้เกิดเลย เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้ตัวเองอยู่รอดได้แน่นอน แต่หากได้รับใบอนุญาตทันทีหรือพร้อมกันกับดิจิทัลทีวีแล้วนั้น ในมุมมองของผมเห็นว่านอกจากจะทำให้ทีวีดาวเทียมที่เกิดขึ้นมาแล้วสามารถเติบโตได้ และยังจะเป็นสื่อทางเลือกที่ดีที่ถูก ให้กับคนไทยอีกด้วย เช่นเดียวกับโมบายล์ทีวีซึ่งตามจริงแล้วคือสื่อทางเลือกใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและมีราคาถูก และยังกล่าวได้อีกว่าจะเป็นอีกสื่อหนึ่งที่มีบทบาทต่อสังคมไทยและควรจับตาเกี่ยวกับการพิจารณาให้ใบอนุญาตของ กสทช. ต่อไป” รศ.สุธรรมกล่าว สำหรับการจัดสัมมนาครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “Shifting Platform…. Satellite TV and Mobile TV” หรือ “มองมุมใหม่... ทีวีดาวเทียมและโมบายล์ทีวี” ครั้งนี้ นอกจากมีหน่วยงานและสื่อมวลชนต่างๆ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเปิดหูเปิดตาคนไทย ให้รู้เท่าเทียมว่าประเทศอื่นๆ เค้ามีการบริหารจัดการและได้รับผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องดิจิทัลนี้เช่นไร และหันมาร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยและสังคมไทยได้มีโอกาสเปิดรับหรือเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยและประเทศไทยนั่นเอง ทั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก International Telecommunication Union (ITU) ในฐานะวิทยากรหลักอย่างต่อเนื่องในอีกหลายๆ ซีรี่ส์ในอนาคตอีกด้วย โดยในงานสัมมนา จะประกอบไปด้วยความรู้เชิงวิชาการและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว รวมถึงผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทต่อประเทศไทย และค้นหาเหตุผลที่ว่าทำไมทีวีดาวเทียมและโมบายล์ทีวี จะมีบทบาทเป็นตัวกลางในการสื่อสารและการเข้าถึงของข้อมูลมากที่สุดก็ว่าได้ ทั้งนี้ทาง ITU หรือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ก็จะมาเล่าถึงกรณีศึกษาต่างๆ ในเรื่องของประเด็นความเท่าเทียมกันทางสังคมในยุคดิจิทัลทีวีที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศ ซึ่ง กสทช. ก็จะมาให้ความกระจ่างในเรื่องของบทบาทขององค์กรกำกับดูแลในมิติทางสังคม การจัดสรรคลื่นความถี่ ใบอนุญาตและการส่งเสริม และยังรวมไปถึงวิทยากรชั้นนำที่เป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ และผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการทีวีดาวเทียมและโมบายล์ทีวียังมาร่วมถกถึงการมองมุมใหม่ หนทางในอนาคต กลยุทธ์ รูปแบบธุรกิจ และรูปแบบของการสื่อสารแนวใหม่บนเวทีเดียวกัน อาทิ Eun-Ju Kim, Ph. D. ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจาก ITU คุณสุภิญญา กลางณรงค์ จาก กสทช. คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ “Forward Looking Satellite TV in Digital Era — มุมมองของทีวีดาวเทียมเมื่อมีดิจิตอลทีวี” ตามด้วยการบรรยายแบบตรงไปตรงมาในหัวข้อ “โอกาสของการยอมรับโมบายล์ทีวีในประเทศไทย” โดยดร.จิตรเกษม งามนิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายบริหารกลยุทธ์ บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) และปาฐกถาในหัวข้อ “Cloud Computing และรูปแบบธุรกิจใหม่” โดย คุณโฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี เทคโนโลยี จำกัด นอกจากนี้ยังมี Dialog Talk หัวข้อ: “Shifting Platform … Satellite TV: What’s next?” โดย รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ และประธานสถาบันวิชาการนโยบายสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล(APaR) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, คุณธีระพงศ์ โสดาศรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และคุณเอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานกิจการองค์กร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ตามด้วย Panel Discussion ในหัวข้อ “Shifting Platform: Satellite TV” ซึ่งร่วมเสวนาโดยคุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่นบรอดแคสติ้ง คอรปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณอารักษ์ ราษฎร์บริหาร บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ 1998 จำกัด (มหาชน) / Spring News ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) และคุณอมรภัทร ชมรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซ์ สเต็ป จำกัด ทั้งนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียจากกรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ในการใช้ระบบรับส่งสัญญาณโมบาลย์ทีวีในระบบ ISDB ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศญี่ปุ่นคิดค้นขึ้นตั้งแต่ปี 1993 โดยมี Mr. Toru Sano, Deputy Manager, Strategy Cross-Media Business Planning & Development, Programming DivisionNippon Television Network Corporation มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ตลอดจนหัวข้อใหม่ที่น่าสนใจอย่าง “ธุรกิจใหม่ Mobile TV กับผลกระทบหรือโอกาส” โดยมีคุณวิทวัส ชัยปาณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ครีเอทีฟจูซ จีวัน จำกัด และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และ คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายธุรกิจบรอดแคสติ้ง) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมาร่วมพูดคุยกันบนเวที โดยมีรศ.สุธรรม อยู่ในธรรม เป็นผู้ดำเนินรายการ และปิดท้ายงานสัมมนาอย่างชัดเจน คมเข้ม และรู้จริงในหัวข้อ “วาระทางสังคมและการกำกับดูแล” โดย ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานสถาบันนโยบายสังคมและเศรษฐกิจ (ISEP) และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ Digital Agenda Thailand “การจัดสัมมนาครั้งนี้ ผมหวังว่าคนไทยจะได้รับรู้ข่าวสารและข้อมูลและความเป็นจริงในทุกแง่มุมทั้งเรื่องราวและความสำคัญของระบบดิจิทัล บทเรียนความรู้จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีประสบการณ์เรื่องนี้มาก่อนเรา รวมถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยอยากเชิญชวนให้คนไทยลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับโครงการ “Digital Agenda Thailand” หรือ “วาระดิจิทัล รู้ทันโลก ร่วมเปิดไทย” เพื่อขับเคลื่อนเรื่องของดิจิทัลให้เป็นวาระสำคัญของประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าเราทุกคนมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยนั่นเอง” รศ.สุธรรม กล่าวในที่สุด ทั้งนี้ ทางคณะผู้จัด ก็ยังคงจะเดินหน้าจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ และอัพเดทข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องต่อไปตามที่ตั้งใจไว้แน่วแน่ โดยในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ จะมีการจัดสัมมนาซีรี่ส์ที่ 4 ในหัวข้อ “"Content & Creativity in the Digital Thailand" ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ตลอดเวลาที่ ACE (เอ๊ซ) โทร.02 254 8482-3 อีเมล์ info.acethailand@gmail.com หรือที่ Website ของโครงการ www.digitalagendathailand.com ได้ตลอดเวลา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ