ดาว เคมิคอล ร่วมสนับสนุนการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 8 มุ่งพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทย

ข่าวทั่วไป Monday May 21, 2012 16:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจำนวนกว่า 100 คน จากทั่วทุกภาคของประเทศไทย นั่งรวมตัวกันในห้องประชุมอย่างเป็นระเบียบ มีรอยยิ้ม เสียงพูดคุยทักทายเบาๆ และแววตาที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น เมื่อพวกเขาต่างรอคอยให้ชื่อของตัวเองหรือเพื่อนที่มาด้วยกันได้รับการขานให้ขึ้นไปรับเหรียญรางวัลบนเวที เพราะนั่นคือหนึ่งในความสำเร็จที่น่าภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต พร้อมโอกาสที่อาจจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับนานาชาติ ในปีนี้มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 8 ขึ้น โดยบริษัท ดาว เคมิคอล ผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับโลก เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักในการแข่งขันครั้งนี้ ทั้งนี้การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทย และเพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันในเวทีระดับโลก โดยขั้นตอนการคัดเลือกมีทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศซึ่งผ่านการเข้าค่ายของศูนย์ สอวน. ในแต่ละภูมิภาค จะเข้าสู่เวทีการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ซึ่งมีการสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยนักเรียนที่ทำคะแนนได้สูงสุด 50 ลำดับแรก จะได้เข้าค่ายอบรมแบบเข้มข้นของ สสวท. และเข้าสอบเพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศ 4 คน ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติต่อไป ภายหลังจากการทดสอบอย่างเข้มข้นเป็นเวลาถึงสองวัน ในปีนี้นักเรียนที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง 14 คน เหรียญเงิน 18 คน และเหรียญทองแดง 31 คน รองศาสตราจารย์ เย็นใจ สมวิเชียร กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) กล่าวว่า “เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 คณะกรรมการฝ่ายวิชาการจากมูลนิธิ และคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากศูนย์ทั่วประเทศ ได้พิจารณาเห็นควรให้ปรับการออกข้อสอบปีนี้ในบางข้อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น ส่วนที่เกี่ยวกับชีวเคมี อินทรีย์เคมี และจะค่อยๆ ปรับให้เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดในปีต่อๆ ไป มาถึงวันนี้มูลนิธิ สอวน. ภูมิใจที่ได้ดำเนินการพัฒนาด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทยให้ได้มาตรฐานสากล ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องจากมูลนิธิ สอวน. ต้องรับผิดชอบด้านงบประมาณการแข่งขันผ่านศูนย์เจ้าภาพ และการแข่งขันแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อาทิ ค่าใช้จ่ายในด้านอุปกรณ์การสอบ ค่าอาหารและที่พักสำหรับครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ค่าเดินทางไป-กลับ และการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน การได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาคเอกชน เช่น บริษัท ดาว เคมิคอล จึงมีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้การดำเนินงานของมูลนิธิและศูนย์เจ้าภาพมีความคล่องตัว สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” คุณภรณี กองอมรภิญโญ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ปีนี้ ดาว เคมิคอล เป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับนานาชาติ ครั้งที่ 44 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เราจึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะขยายความสนับสนุนมายังประเทศไทยด้วย เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะสายเคมีที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน เพราะปัจจุบัน บทบาทของเคมีไม่ได้อยู่ที่ห้องแล็บหรือห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและช่วยแก้ปัญหาระดับโลกหลายๆ อย่างได้ อาทิ การขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาด การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น การพัฒนาพลังงานทดแทน การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น การสนับสนุนโครงการนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนและสังคมเห็นความสำคัญของเคมีมากขึ้นและช่วยสร้างบุคลากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศของเราในวันข้างหน้า” น้องบอส ณัฐมงคล วงศ์อัมพรพิเชฐ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้ได้รับเหรียญทอง คะแนนรวมสูงสุด และคะแนนทฤษฎีสูงสุด เปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จว่า “โดยปกติจะตั้งใจเรียนให้เข้าใจในห้องเรียน แล้วกลับมาสรุปประเด็นสำคัญที่บ้าน ช่วงใกล้ๆ การแข่งขันจะอ่านหนังสือและฝึกทำโจทย์ทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง ในอนาคตอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์เพื่อนำความรู้ที่มีมาช่วยพัฒนาประเทศครับ” “รู้สึกภูมิใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน เคล็ดลับของความสำเร็จเริ่มมาจากความรักในวิชาเคมี ชอบค้นคว้าทดลอง และเรียนด้วยความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่การท่องจำ ถ้าเพื่อนๆ อยากได้ความรู้ที่มากกว่าในห้องเรียน และได้มิตรภาพระหว่างเพื่อนต่างสถาบัน ก็ขอให้มาร่วมโครงการกันเยอะๆ นะครับ เพราะการเป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้ากับคนอื่นได้ด้วย” น้องตอง อรรถพล ไชยนา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา ผู้ได้คะแนนปฏิบัติสูงสุด กล่าวเสริม ขอชื่นชมผู้ใหญ่ใจดีที่เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และช่วยสานฝันของเด็กๆ ให้เป็นจริง เชื่อมั่นเหลือเกินว่าพลังเล็กๆ ในวันนี้จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยยกระดับด้านการศึกษาของไทยและขับเคลื่อนประเทศชาติให้พัฒนาต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ