GBX ชี้นักลงทุนถือดอลล์เพิ่ม-มองทองย่อ มองกรอบลงทุน1,520-1,640ดอลล์/ออนซ์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2012 17:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์ โกลเบล็ก โฮลดิ้งฯชี้แจงตั้งแต่ต้นเดือนราคาทองผันผวนเกือบ 100 ดอลลาร์ เหตุนักลงทุนมองเศรษฐกิจโลก เสี่ยง หันถือครองดอลลาร์เพิ่ม เชื่อยังมีปัจจัยให้ราคาเด้งมากกว่าสินทรัพย์อื่น อาทิ ดอลลาร์แข็ง และผุดมาตรการQEรอบใหม่ มองกรอบลงทุนสัปดาห์นี้ 1,520-1,640 ดอลลาร์/ออนซ์ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ นักวิเคราะห์ทองคำ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด หรือ GBX เปิดเผยว่า ช่วงนี้ราคาทองคำไม่ได้เคลื่อนไหวตรงกันข้ามกับสินทรัพย์เสี่ยงแบบที่เข้าใจกัน เนื่องจากหากพิจารณาผลตอบแทน MTD ของสินทรัพย์ต่าง ๆ พบว่าทองคำให้ผลตอบแทนเป็นลบเหมือนกับสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ เช่น Crude oil และดัชนีDow Jones ดังนั้น ทองคำในช่วงนี้ยังคงถูกมองเป็นสินทรัพย์เสี่ยงในระดับหนึ่ง ขณะที่นักลงทุนยังคงมองเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่เชื่อว่าทองคำยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้มากกว่าสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีการชะลอตัวทำให้มีความคาดหวังว่าจะมี QE จากธนาคารกลางสหรัฐฯจะส่งผลให้ทองคำกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ในฐานะสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ แต่หากวิกฤตหนี้ทางยูโรโซนยังไม่ได้รับการแก้ไขและยังคงย่ำแย่อยู่ทองคำอาจได้รับความสนใจหากเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่ามากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนจะเริ่มหันมามองทองคำที่ราคาปรับตัวลงมามาก เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์, มีมูลค่าในตัวเองและมีความเป็นสากลเหมือนกันเงินดอลลาร์จะทำให้นักลงทุนหันมาเข้าสะสมทองคำซึ่งจะทำให้ราคาปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำในสัปดาห์นี้(21-25 พ.ค.55)ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้หากผ่านแนวต้านที่ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 23,830 บาทต่อบาททองคำ โดยให้ทยอยขายที่แนวต้าน 1,600-1,620 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 23,830-24,120 บาท/บาททองคำ แต่หากราคาปรับตัวลงต่ำกว่า แนวรับที่ 1,575 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 23,450 บาท/บาททองคำ อาจย่อตัวลงต่อไปที่ 1,540 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 22,930 บาท/บาททองคำ แต่หากราคาต่ำกว่า 1,490 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 22,190 บาท/บาททองคำให้”ตัดขาดทุน” สำหรับราคาทองคำในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงถึง 100 ดอลล์/ออนซ์ ซี่งทาง Globlex ได้เก็บสถิติผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อหาความสัมพันธ์และอธิบายเหตุที่ราคาทองคำปรับตัวลดลง โดยนำโลหะเงิน, น้ำมัน, เงินยูโร, ดัชนีDow Jones, เงินดอลลาร์ และผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี มาหาผลตอบแทนตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ทั้งนี้ จากตารางจะเห็นได้ว่าทองคำผลตอบแทนเป็นลบในเดือน พ.ค. แต่ทองคำไม่ใช่สินทรัพย์เดียวที่มีผลตอบแทนเป็นลบเนื่องจาก สินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ เช่น โลหะเงิน, น้ำมันดิบ, ดัชนีDow Jones และเงินยูโร ต่างปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน เมื่อเทียบกับต้นเดือน พ.ค. โดยสามารถสังเกตได้จากแถว MTD (Month to date) ที่เป็นลบ โดยสินทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดคือ Crude Oil ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ผลตอบแทนของ USD Index กลับปรับตัวขึ้นเพียงสินทรัพย์เดียว ดังนั้น จะเห็นว่ากระแสเงินได้ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ เพื่อเข้าไปถือเงินสหรัฐฯจึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น โดยปัจจัยที่ทำให้ USD Index แข็งค่าขึ้นมาจากความกังวลเกี่ยวกับกรีซที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ส่งผลให้เริ่มมีความกังวลว่ากรีซอาจจะต้องออกจากยูโรโซน และปัญหาหนี้สินของประเทศแถบยูโรโซนที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มหันไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯและบางส่วนได้ไหลเข้าพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯด้วย (ณ ที่นี้จะขอใช้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีเป็นตัวแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐ) โดยคอลัมน์ Yield 10 years US Bond พบว่าผลตอบแทนปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ จากช่วงต้นเดือนซึ่งแสดงถึงมีความต้องการซื้อมากขึ้นทำให้ราคาพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น ผลตอบแทนจึงปรับตัวลดลงดังในตาราง ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ณ ต้นเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 1.98% แต่ปัจจุบันผลตอบแทนกลับปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.70% ต่ำสุดในรอบปี 2012 และต่ำกว่าในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008-2009 อีกด้วย สำหรับเหตุผลที่เม็ดเงินไหลเข้าดอลลาร์สหรัฐฯและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องมาจากทั้ง 2 สินทรัพย์เป็นสกุลเงินสากลที่ได้รับความน่าเชื่อถือทั่วโลก และประเทศสหรัฐฯยังคงเป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกจึงทำให้หากมีสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงนักลงทุนเลือกที่จะเข้าถือในสินทรัพย์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อ USD Index แข็งค่าเกินไปก็ย่อมมีแรงเทขายออกมาบ้าง ทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 16-18 พ.ค. ที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ